ภาคต่อของวันที่สอง ของโครงการ กิจกรรมสื่อมวลชนเยี่ยมชม หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (ฝั่งทะเลตะวันตก)
เพชรบุรี-ชุมพร-ระนอง" เมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคม 2561 ตามโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village ) วันนี้เราไปเยือนจังหวัดระนองกันค่ะ ตามกันมาเลย!!
หมู่บ้านหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง
หาดไร้เงา ขุนเขานมสาว ดินขาวมากมาย
พ่อท่านคล้ายศักดิ์สิทธิ์ แดนเนรมิตระนองแคนยอน..
เช้าของวันที่สอง เดินทางออกจากโรงแรมที่พัก มุ่งหน้าไปยัง
หมู่บ้านหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง หาดไร้เงา ขุนเขานมสาว ดินขาวมากมายพ่อท่านคล้ายศักดิ์สิทธิ์ แดนเนรมิตระนองแคนยอน...คือนิยามของที่นี่ จะเป็นจริงดั่งว่าหรือไม่ ต้องตามไปดู ..ซึ่งหลังชื่นใจกับการแสดงต้อนรับและ welcome drink
น้ำส้มเกร่า หรือน้ำของผลส้มจี๊ด ที่จะอุดมไปด้วย วิตามินเอ ซี และกรดอินทรีย์หลายชนิดสำหรับผู้ที่ไอและมีเสมหะให้นำน้ำที่คั้นได้มาผสมกับเกลือเล็กน้อยจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้ ,การต้อนรับด้วยการแสดงอัตลักษณ์ชุมชน กิจกรรมร่อนแร่ แหล่งแร่สำคัญของจังหวัดระนองโดยเฉพาะแร่ดีบุก ใช้เลียงเป็นอุปกรณ์ในการร่อนแร่ชมศูนย์เซรามิกดูการสาธิตเซรามิก ที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย สะท้อนวิถีชุมชน และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทนไฟสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน
สำหรับบ้านหาดส้มแป้น
มีดินขาวอยู่มาก ซึ่งเดิมที่ตำบลนี้มีการการทำเหมืองแร่ดีบุก และในระหว่างที่มีการฉีดเหมืองเพื่อนำแร่ดีบุกขึ้นมาใช้จึงพบดินขาว ซึ่งผลการวิจัยพบว่าเป็นดินขาวที่ดีที่สุดในประเทศไทย เมื่อแร่ดีบุกราคาตกต่ำจึงได้มีการวิจัยอย่างจริงจัง จึงเริ่มหันมาทำเหมืองดินขาวนำออกขาย มีการสัมปทานเหมืองดินขาวต่อกันมาถึง 3 รุ่นรวมอายุประมาณ 100 กว่าปี ปัจจุบันมีการทำเหมืองดินขาวอย่างแพร่หลายในตำบลหาดส้มแป้นนี้ เมื่อมาใช้ทำผลิตภัณ์จะทนไฟสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน ผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย สะท้อนวิถีชุมชน
เราได้ประจักษ์ว่า หมู่บ้านหาดส้มแป้น ตำบลเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในหุบเขา มีภูเขานมสาวล้อมรอบแห่งนี้ เพี้ยนมาจากคำว่า “ห้วยซัมเปียน” ในภาษาจีน ซึงแปลว่า “ลึกเข้าไปในหุบเขา” เดิมเป็นพื้นที่ป่ารกทึบ บรรพบุรุษจีนในสมัยนั้น ได้ตามสายแร่มาจนถึงพื้นที่แห่งนี้ และเรียกว่า "ห้วยชานเปียน" หรือ "ห้วยซัมปา" ก่อนที่คำจะเพี้ยนมาเป็น"หาดส้มแป้น"
ในปัจจุบัน
ตำบลหาดส้มแป้น อยู่ห่างจากอำเภอเมืองระนองประมาณ 8 กม. เข้าทางถนนเพชรเกษมผ่านสวนสาธารณะรักษะวาริน (บ่อน้ำร้อน) เป็นหมู่บ้านชนบทที่แวดล้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายหลาก ประชาชนตั้งรกรากจากการทำเหมืองแร่ในอดีตและได้น้อมนำแนวชพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของประบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ใช้เป็นวิถีทางในการดำรงชีวิตตนเอง
ต่อกันที่ บ้านหงาว...ระนอง น่ะ รับรองไม่มี...เหงา...
กิจกรรมที่นี่ เข้าวัดบ้านหงาว สักการะพระพุทธรูปดีบุก ชมสินค้าท้องถิ่น ชมระบำร่อนแร่ + ระบำบ้านหงาว ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของบ้านหงาว
เยือนป่าชายเลนหมู่เกาะระนอง และร่วมปลูกป่าด้วย และรับรองว่า เราอดใจไม่ไหวที่จะต้องช้อป เม็ดมะม่วงหิมพานต์หรือภาษาถิ่นเรียกกาหยู สินค้าท้องถิ่นของชุมชนที่นำรายเพิ่มมูลค่าเป็นกอบเป็นกำให้ชาวบ้าน
เช่นกัน
"หงาว"เป็นอีกชื่อที่เพี้ยนมาจากภาษาจีน อีกเช่่นกัน มาจากชื่อของวัวป่า ซึ่งชาวจีนเรียกวัวป่าว่า "โหงว" เนื่องจากตำบลหงาวแต่โบราณ เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ มีสัตว์ ประเภทกินหญ้าอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะวัวป่า เมื่อครั้งคอซูเจียง (ต่อมาเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี) เข้ามาบุกเบิกทำเหมืองแร่ทีนี่จึงเรียกที่นี่ว่า "ทุ่งโหงว" หรือ ทุ่งวัวป่า
ต่อมาเพี้ยนเป็น "ทุ่งหงาว" โดยเริ่มมีคนเจ้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 เนื่องจากบริษัท ไซมิสทินซินติเกรต ได้เข้ามาขอสัมปทานบัตรขุดหาแร่ดีบุก ต่อเรือขุดแร่ขึ้น 3 ลำพร้อมกัน จึงต้องใช้คนงานจำนวนมาก ทั้งคนงานของบริษัท และคนงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น คนตัดฟืนขายให้บริษัททำเชื้อเพลิงสำหรับเรือขุดแร่ รวมกว่าพันคน เมื่อรวมถึงครอบครัวคนงานและพ่อค้าแม่ค้าจึงเกิดเป็นชุมชนใหญ่ จึงได้รับการยกฐานะเป็นตำบล เรียกว่า "ตำบลหงาว"
ต่อมาพื้นที่บางส่วนของตำบลหงาวที่เป็นย่านชุมชนหนาแน่นหรือย่านเศรษฐกิจของตำบลหงาว ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 จัดตั้งเป็นสุขาภิบาลหงาว อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ต่อมามีพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 มีผลทำให้สุขาภิบาลทั่วประเทศเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบล ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 สุขาภิบาลหงาวจึงเปลี่ยนฐานะเป็นเทศบาลตำบลหงาวจนถึงปัจจุบัน
ส่วนวัดบ้านหงาว เป็นวัดดังของ จ.ระนอง มีชื่อเสียงอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง 1. วังมัจฉา มีปลาจำนวนมากและขนาดใหญ่มากตั้งแต่ปลาบึก ปลาจาระเม็ดน้ำจืด ปลาดุกยักษ์ 2. อุโบสถหลังใหม่ มีรายละเอียดการตกแต่งที่สวยงามมาก 3. พระพุทธรูปดีบุก เป็นพระพุทธรูปดีบุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ตั้งของวัดบ้านหงาวจะอยู่ใกล้กับภูเขาหญ้า และ อยู่ตรงข้ามกับน้ำตกหงาว
ฮัดช่า...ลิเกฮูลู..ทำเอาเราอยากพันเอวด้วยบาติก..แล้วแต่งกับหนุ่มชาวเล..
จุดสุดท้ายของสื่อมวลชนสัญจร ที่หลายคนไม่อยากจากมา
"หมู่บ้านทะเลนอกระนอง" กับการต้อนรับด้วย"ลิเกฮูลู"การละเล่นพื้นบ้านของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ของไทยเป็นเพลงประกอบดนตรีและจังหวะตบมือ ต้องบอกว่าหาดูไม่ง่าย ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวเลและวิถีการทำประมง ดูสาธิตการทำผ้าบาติก และที่นี่มี Landmark ถ่ายภาพแสนงาม
หมู่บ้านทะเลนอกระนอง เป็นหมู่บ้านริมชายหาดที่มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงชุมชนอย่างเป็นระบบและน่าสนใจ โดยในอดีตบ้านทะเลนอกตั้งบ้านเรือนอยู่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่บริเวณปากคลองติดกับทะเล และอีกกลุ่มอยู่บริเวณป่าโกงกางเหนือขึ้นมา
ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 บ้านบริเวณปากคลอง ถูกทำลายไปเสียสิ้น ชาวบ้านจึงทำการฟื้นฟูหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ โดยเน้นการอนุรักษ์ป่าโกงกาง ป่าฝน และสัตว์น้ำ
ดังนั้นที่เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจสัมผัสกิจกรรมมากมาย กับวิถีชาวบ้านอย่างเต็มอิ่ม สัมผัสวิถีชีวิตตามจารีตประเพณีหมู่บ้านที่ล้อมรอบไปด้วยป่าชายเลน กับความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแต่สะดวกสบาย มีโฮมสเตย์ชาวบ้าน จะได้นั่งเรือชมป่าโกงกาง พร้อมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นคอยบรรยายให้เราได้รู้จักพืชและสัตว์ต่างๆ ได้เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ในป่าฝนบนเนินเขาที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก พร้อมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเช่นกัน
ชมการลากอวนชายหาด เมื่อแดดร่มลมตกในยามเย็นใกล้อาทิตย์ลับฟ้า ชาวบ้านจะพาเดินลงน้ำเพื่อไปช่วยกันลากอวนด้วย เมื่อเดินถึงระดับที่น้ำอยู่ประมาณเอวหรืออก อวนจะถูกปล่อยลง ใช้เท้าในการตรึงอวนให้เป็นตาข่ายพร้อมกับเดินขึ้นมาชายหาดพร้อมปลาจำนวนมากมาย ปลาตัวใหญ่จะถูกเลือกไว้เพื่อทำอาหาร ขณะที่ตัวเล็กก็ปล่อยกลับลงทะเล จากนั้นจะได้ลิ้มรสอาหารทะเลปักษ์ใต้จากฝีมือหาปลาของตนเองอีกด้วย
จะมีกิจกรรมสาธิตและชมงานหัตถกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ มีอยู่สองกลุ่ม คือ กลุ่มแม่บ้านทำสบู่ และกลุ่มทำบาติก เราสามารถเรียนรู้การทำสบู่ และการวาดภาพบาติกได้จากสมาชิกกลุ่มพร้อมนำผลงานตัวเองกลับบ้านเป็นที่ระลึก หากมีเวลามากพอที่นี่เหมาะอย่างยิ่งที่จะค้างคืน รอแสงแรกของพระอาทิตย์ ความสุขล้นปรี่แน่นอน
เวลาเพียง 1 คืน 2 วัน ที่เราใช้ไปกับการเดินทางเยือนชุมชน..อันเต็มไปด้วยอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้และความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนสู่ชุมชน จนสามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปรู้จักพวกเขา...
การเดินทางครั้งนี้ InsightoutStory ชอบรอยยิ้ม ความตั้งใจ ความสามัคคีในชุมชน...เราว่ามันคือความคุ้มค่ามาก กับการที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเพื่อรู้จัก สัมผัสก่อนที่จะรักชุมชนเหล่านี้..เหมือนที่เราไปพบและ ”รัก” พวกเขามาแล้ว
ย้อนอ่าน กิจกรรมวันแรกที่ จังหวัดเพชรบุรี-ชุมพร
คลิ๊กด้านล่างได้เลยค่ะ
Editter :: Insightoutstory.com
ขอบคุณ :: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย