และเปิดตัวการ์ตูนคาร์แรคเตอร์ “ท่าทางที่อยากเห็น และไม่อยากเห็นในครอบครัว” โดยมีนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วมงาน ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ
พลเอก อนันตพร กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจ พม. โพลศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ซึ่งสำรวจระหว่างเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2561 พบว่า ประเภทของการกระทำความรุนแรงอันดับหนึ่ง คือ การถูกทำร้ายทางร่างกาย รองลงมาคือ การล่วงละเมิดทางเพศ และการทำร้ายทางจิตใจ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลความรุนแรงในครอบครัว ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้ www.violence.in.th ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) พบว่า ในปี 2561 มีการทำร้ายร่างกาย เป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 59 รองลงมา คือ การดุด่า ดูถูก คิดเป็นร้อยละ 18 และการกล่าววาจา หยาบคาย/ตะคอก/ประจาน/ขู่/บังคับ คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด
พลเอก อนันตพร กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดย สค. ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2561 ได้จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ด้วยการรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ เพื่อสร้างกระแสสังคมให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาและนำไปสู่การรวมพลังของทุกภาคส่วนในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ภายใต้แนวคิด
“He For She : ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง”
มุ่งส่งเสริมผู้ชายให้มีบทบาทและส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงฯ นอกจากนี้ ยังร่วมกับสวนดุสิตโพลล์ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ “ท่าทางที่อยากเห็น และไม่อยากเห็นจากบุคคลในครอบครัว” และได้มีการนำผลความคิดเห็นมาจัดประกวดการ์ตูนคาแรคเตอร์ท่าทางที่อยากเห็น และไม่อยากเห็นในครอบครัว เพื่อใช้สำหรับเป็นสื่อในการรณรงค์สร้างความตระหนักต่อปัญหาความรุนแรงฯ และส่งเสริมให้มีการแสดงพฤติกรรมที่ดีเพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดี ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ สำหรับในปี 2562 กระทรวง พม. โดย สค. มีแผนจะขับเคลื่อนการรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งการดำเนินงานในระยะต่อไปจะเป็นการสร้างกระแสสังคมเกี่ยวกับการ์ตูนคาร์แรคเตอร์ “ท่าทางที่อยากเห็น และไม่อยากเห็นในครอบครัว” โดยจะนำการ์ตูนคาร์แรคเตอร์ดังกล่าวไปผลิตเป็นสื่อเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะชน อาทิ สื่อวีดิโอการ์ตูนภาพเคลื่อนไหว สื่อสติกเกอร์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อตั้งประชาสัมพันธ์ Standy ธงประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ผ่านสื่อในทุกช่องทาง ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Line Youtube Instagram เป็นต้น รวมทั้งนำไปประชาสัมพันธ์ในงานต่างๆของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงานในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การ์ตูนคาร์แรคเตอร์ สื่อสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพของครอบครัว ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ โดยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ช่องทาง ร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ แสดงออกด้วยการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรง” และเพื่อเสริมสร้างความตระหนักต่อสังคม และส่งเสริมให้เกิดภาคีเครือข่าย ในการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง
“ทั้งนี้ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กระทรวง พม. ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ http://plan.dwf.go.th/public/campaign.do เพื่อร่วมเป็นหนึ่งเสียง ในการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ” หากประชาชนพบเห็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงหรือประสบปัญหาทางสังคม สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ต่อไป” พลเอก อนันตพร กล่าวในตอนท้าย