เปิดงาน RAIL Asia Expo 2019 สุดคึกคัก หลังประกาศตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศลดนำเข้า 70,000ล้าน พลิกโฉมไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระบบรางรถไฟในภูมิภาคอาเซียน

เปิดงาน RAIL Asia Expo 2019 สุดคึกคัก รับกระแสมิติใหม่การขนส่งระบบรางปี 2020 หลังประกาศตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศลดนำเข้า70,000ล้าน พลิกโฉมไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระบบรางรถไฟในภูมิภาคอาเซียน ในงานมีนักลงทุนข้ามชาติ ผู้ประกอบการระบบรางไทย สถาบันการศึกษาไทย กว่า 120 รายร่วมประชันนวัตกรรมระบบราง พบโซลูชั่นสุดล้ำด้านงานระบบกลศาสตร์และไฟฟ้า สำหรับระบบรางในเอเชีย “เอเชีย เอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส” ผู้จัด ชูงานเป็นเจ้าแรกในเอเชียที่รวมบริษัทยักษ์ใหญ่ระบบรางทั่วโลกไว้ที่เดียวกัน
ในขณะที่ปลัดกระทรวงคมนาคมชี้อนาคตมีการส่งเสริมให้เกิด "ฟีดเดอร์ระบบราง" มากขึ้นเปิดโอกาสให้ ภาคเอกชน กรุงเทพมหานครเป็นผู้ลงทุนระบบรางเอง ด้านร.ฟ.ท.แจ้งได้งบ 300,000ล้านลงทุนรถไฟความเร็วสูง เตรียมเปิดศักราชใหม่ของระบบรางประเทศไทย
นายเดวิด เอ็ทคิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้จัดงานแสดงเทคโนโลยีรถไฟ รถฟ้าความเร็วสูงและรถไฟใต้ดิน เปิดเผยว่า การเปิดงาน RAIL Asia Expo 2019 ที่จัดขึ้นวันที่ 28-29 มีนาคม 2562 ที่ลานกิจกรรม สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ถือเป็นการจัดครั้งที่ 5 ยิ่งใหญ่กว่าทุกๆปีเพราะมีบริษัทใหญ่ด้านเทคโนโลยีระบบรางทั่วโลกแห่มาโชว์นวัตกรรมกว่า120ราย, มีนักลงทุนต่างชาติร่วมงานกว่าพันคน
งานแสดงในปีนี้ชุมนุมความหลากหลายของ เทคโนโลยีใหม่ ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และคู่ค้าจากทั่วทุกภูมิภาค โดยล่าสุดนี้ มีบริษัทรายใหม่ยืนยันเข้าร่วมแสดงแล้ว อาทิ Bentley, TÜV SÜD, Caddy, Erico, Hoffman, Raychem, Schroff, Tracer, nVent, Damrongsilp, Siam Steel, Kangni Rail Equipment, Egis, Pt Len Industry, GMT, Duali Incorporation และ DB Schenker ขณะที่บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยังเข้าร่วมงานกันอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น Bombardier, CRRC, LSIS, Transdev, CRSC, Siemens, Voestalpine, Power Pusher, NuStar, Inoue Rubber, Anyang, Schneider Electric

รวมถึงพาวิเลี่ยนประเทศไทย และองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น ผู้ให้บริการเดินรถ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษาโครงการ ยังมีการจัดแสดงจากพาวิเลียนสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรมระบบรางของไทย ส่วนแสดงเทคโนโลยีใหม่ เตรียมพบโซลูชั่นสุดล้ำด้านงานระบบกลศาสตร์และไฟฟ้า สำหรับระบบรางในเอเชีย

ในขณะเดียวกันการเปิดงาน ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม ได้ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Rail Car Assembly Plants Initiatives for Thailand” การริเริ่มโรงงานประกอบรถไฟในประเทศไทย มีใจความ ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง เพื่อพัฒนาและขยายขีดความสามารถของประเทศ รวมถึงให้ระบบรางเป็นตัวเชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อในประเทศไทย และระหว่างประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ดังนั้นงาน RAIL Asia Expo 2019 ที่จะจัดขึ้น เป็นแหล่งรวมเทคโนโลยีใหม่ ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และคู่ค้าจากทั่วทุกภูมิภาค กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดนโยบายว่า ประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้ภาคเอกชน “จัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในประเทศ” กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการหารือร่วมกันในการส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศไทยจะเริ่มในปี 2020-2021 ซึ่งนอกจากจะมีการผลิต ประกอบรถไฟในประเทศแล้ว ในอนาคตโรงงานผลิตในไทยก็สามารถส่งออกรถไฟฟ้าไปสู่ประเทศในกลุ่ม CLMVได้
คาดการณ์จะจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟ รถไฟฟ้าได้สูงถึง 3 โรงงาน มียอดการผลิตรวมสูงกว่า 900 ตู้/ปีในปี 2027  การจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในไทย ในอนาคต จะสามารถลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 10 เท่า จากเดิมมีการนำเข้ากว่า 70,000 ล้านบาท เมื่อมีโรงงานผลิต ประกอบในไทยจะลดการนำเข้าเหลือเพียง 6,000-7,000 ล้านบาท นอกจากนั้นยังลดค่าใช้จ่ายการซ่อม-บำรุงรักษา ได้อีกกว่า ปีละ 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังเสริมให้คนไทยได้มีความรู้ในการผลิต เพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟ รถไฟฟ้าได้อีกกว่า 3,000 รายการ จากเดิมต้องนำเข้ากว่า 7,000-10,000 รายการ รวมถึงจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียนด้วย
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยระบบรางใหม่ในประเทศไทยว่าระบบรางถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศไทย ปัจจุบันสัดส่วนการขนส่งในประเทศแบ่งออกได้เป็น การขนส่งทางถนน 87% , การขนส่งทางน้ำ 12%,ที่เหลือเป็นระบบราง 1 % ในอนาคตประเทศไทย จะมีการขนส่งระบบรางใหม่ๆเกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งโครงการที่จะเห็นในเร็ววันนี้คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการรถไฟฟ้าในเมืองและปริมณฑล 10 สาย, โครงการรถไฟฟ้ารางเบาในภูมิภาค(แทรม) และระบบรางฟีดเดอร์ จะเป็นการให้บริการในกรุงเทพ โดยนำรถเมล์ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เป็นฟีดเดอร์รับส่งผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าไปถึงที่หมายโดยรถเมล์
อนาคตภาครัฐจะต้องมีการส่งเสริมให้เกิด "ฟีดเดอร์ระบบราง" มากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ ภาคเอกชน หรือกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นผู้ลงทุนระบบรางเอง เช่น กรณี รถไฟฟ้าสายสีทอง ล่าสุด กทม. ได้เตรียมเสนอที่จะทำรางฟีดเดอร์ต่อเชื่อมจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากสถานีแบริ่งไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ(รถไฟฟ้าสีฟ้าอ่อน) ซึ่งหากมีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม จะทำให้ประชาชนฝั่งสมุทรปราการสามารถเดินทางด้วยระบบรางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิทางทิศใต้ของสนามบินได้ โดยที่ไม่ต้องเข้าสนามบินทางด้านทิศเหนือเหมือนในปัจจุบัน
ด้านนายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ปาฐกถา เรื่อง “Future Projects of SRT” แผนอนาคตระบบขนส่งทางรางไทย กล่าวว่า ร.ฟ.ท. ได้รับงบประมาณหลายแสนล้านบาท ในการลงทุนยกเครื่องทางรถไฟทั่วประเทศ ระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายว่าจะทำให้รถไฟไทยขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้รวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน รถไฟยังได้รับงบประมาณอีกเกือบ 3 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) และกรุงเทพฯ-ระยอง (รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน) ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของระบบรางประเทศไทย แต่การทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนารถไฟอย่างเดียวคงไม่คุ้มค่า ถ้าหากขาดแนวคิดเรื่องการพัฒนารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Transit-oriented Development (TOD) หรือการพัฒนาพื้นที่โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะระบบขนส่งทางราง
ในปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มี โครงการพัฒนา TOD ขนาดใหญ่และทันสมัย อยู่บริเวณ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เพราะเมื่อสถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการในปี 2564 ก็จะกลายเป็น Grand Station แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และของประเทศไทย สามารถรองรับการเดินทางได้ทั้งรถไฟทางคู่, รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนถึงรถไฟความเร็วสูง
คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการสถานีกลางบางซื่อจำนวนมาก ร.ฟ.ท. จึงมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อขนาด 2,325 ไร่ ภายใต้ชื่อ ‘โครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน โดยการการพัฒนาจะมีตั้งแต่ระบบสาธารณูปโภค สวนสาธารณะ โรงแรม หน่วยงานราชการ ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดจตุจักร ย่านธุรกิจ ไปจนถึงแหล่งที่พักอาศัย แต่การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ใช่เมืองใหม่ธรรมดา เพราะ ร.ฟ.ท.ได้ ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้วยการใช้เทคโนโลยี 3 ด้าน คือ ด้านคมนาคม ด้านพลังงานทดแทน และโครงสร้างพื้นฐานบริการสาธารณะ เพื่อบริหารพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้พลังงาน ลดมลภาวะ รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร
โดยเบื้องต้นร.ฟ.ท. มีแผนจะเปิดประมูลศูนย์คมนาคมพหลโยธินบริเวณพื้นที่แปลง เอ ขนาด 32 ไร่ มูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นแปลงแรก คาดว่าจะประกาศเชิญชวนนักลงทุนได้ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2562 และได้ผู้ชนะการประมูลภายในปีดังกล่าว เพื่อให้นักลงทุนสามารถพัฒนาพื้นที่แปลง เอ บางส่วน ทันกับการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อในปี 2564 จากนั้นรถไฟ ก็จะทยอยเปิดประมูลพื้นที่แปลงอื่นๆ ในศูนย์คมนาคมพหลโยธินต่อไป

ม.นเรศวรโชว์ระบบตรวจสั่นสะเทือนรถไฟ งาน RAIL Asia Expo 2019
ภายในงาน RAIL Asia Expo 2019 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2562 ณ ลานกิจกรรม สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน นอกจากนี้เทคโนโลยี นวัตกรรมของบริษัทข้ามชาติ ผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังมีผลงานจากสถาบันศึกษามาโชว์ด้วยเช่นกัน อาทิ มหาวิทยาลัยนเรศวรที่มาร่วมออกบูธด้วย โดยทีมงานของ ดร.ทรงศักดิ์ สุชาติประดิษฐ์ แห่งสถานวิจัยความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร โชว์ผลงานพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องระบบรางร่วมกับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ในโครงการชื่อว่า
"การพัฒนาระบบตรวจวัดการสั่นสะเทือนของรถไฟอัจฉริยะแบบฝังบนตัวรถไฟฟ้าที่ใช้บริการ เพื่อการประเมินความปลอดภัยและสภาพทางวิ่ง" โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหลายหน่วยงานรวมสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ทั้งนี้ดร.ทรงศักดิ์และทีมงานได้ พัฒนาชุดอุปกรณ์เซนเซอร์สำหรับติดตั้งที่รถไฟฟ้า 1 ชิ้นต่อ 1 ตู้ ซึ่งเซนเซอร์จะตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนของรถและส่งต่อข้อมูลไปที่คอมพิวเตอร์ส่วนกลางแบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลการสั่นสะเทือนนี้จะช่วยเตือนภัยเจ้าหน้าถึงปัญหาความบกพร่องของรถไฟหรือราง เพื่อสามารถตรวจสอบและแก้ปัญหาได้ก่อนเกิดเหตุร้ายแรงขึ้น
ที่ผ่านมาได้นำทดสอบติดตั้งในรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทลิงค์แล้วพบว่ายังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีได้เองจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศนำอุปกรณ์มาติดตั้งตรวจสอบครั้งละหลายล้านบาท ในขณะที่ราคาอุปกรณ์ถูกกว่าในต่างประเทศ

ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หันมาใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เฉพาะยอดผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS มีค่าเฉลี่ยมากกว่า 700,000 คนต่อวันทำการ (ข้อมูลจากwww.btsgroup.co.th/)

ส่วนแอร์พอร์ทเรลลิงค์ สถิติใน ปี 2561 พบว่า มีผู้ใช้บริการรวม 23.6 ล้านคน เคยมีผู้ใช้บริการสูงสุดมากกว่า 80,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน

Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts

ค้นหาบล็อกนี้

Contact Us ::

📲 (+66) 081 4345154
✉️ Insightoutstory@gmail.com

Add Line📲 Click 👇👇

Translate

🚉 ช.ส.ท.พาเที่ยว นครฯ

Review By Nichapa

POPULAR NEWS

Fanpage Facebook

ป้ายกำกับ

คลังบทความของบล็อก