วันที่ 20 กรกฏาคม 2562 เวลา 09.00 น. ร้อยเอก ดร. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดพะเยาเพื่อติดตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่กว๊านพะเยา พร้อมทั้งมอบนโยบายการดำเนินงานแก่หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตร
และสหกรณ์ นอกจากนี้ยังได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 150,000 ตัว ได้แก่ ปลาสร้อยขาว และปลาตะเพียนขาว ปลาเทพา ลงสู่กว๊านพะเยา ตลอดจนได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานการณ์ภัยแล้งในกว๊านพะเยาและกองดินบริเวณตำบลบ้านต๋อม ตำบลบ้านสาง และตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา หลังพบสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้มีหัวหน้าส่วนราชการและพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก
กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในเขตภาคเหนือตอนบน ตั้งอยู่เขตอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ 12,831ไร่ 1 งาน 26.6 ตารางวา ระยะทางยาวประมาณ 15 กิโลเมตร กว้างประมาณ10 กิโลเมตร ความลึกเฉลี่ยน้อยกว่า 2 เมตร มีรูปร่างคล้ายแอ่งกระทะ หรือกระเพาะหมูเป็นแหล่งรับน้ำจากลำน้ำ 10 ลำน้ำ ได้แก่ ลำน้ำแม่ปืม ลำน้ำแม่เหยี่ยน ลำน้ำแม่ตุ้ม ลำน้ำแม่ต๋ำ ลำน้ำแม่ต๋อม ลำน้ำแม่ตุ่น ลำน้ำแม่นาเรือ ลำน้ำแม่ใส ลำน้ำแม่ต๊า และมีลำน้ำแม่อิงซึ่งเป็นลำน้ำสายหลัก จากการสำรวจข้อมูลภาคประมงในกว๊านพะเยา
พบสัตว์น้ำประมาณ 28-36 ชนิดพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มปลาสร้อย ปลาตะเพียน และปลานิล พบชาวประมง จำนวน 17 ชุมชน 344 ครอบครัว โดยการทำประมงส่วนใหญ่จะใช้เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น แห ข่าย ยอ เบ็ด ตุ้ม ฯลฯ ซึ่งรายได้จากการทำประมงโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 9,000 บาท/เดือน
ในปี พ.ศ. 2482 กรมประมงได้มีการก่อสร้างประตูปิดกั้นลำน้ำอิง เพื่อสร้างประโยชน์ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอุปโภคบริโภค และแหล่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
จากตำแหน่งที่ตั้งของกว๊านพะเยา ด้านตะวันออกติดชุมชนเมือง ร้านค้า ร้านอาหารโรงพยาบาล ส่วนด้านตะวันตกติดแหล่งเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์และพื้นที่นาทำให้ปัจจุบันกว๊านพะเยาได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม
ที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ ปัญหาการขยายตัวของวัชพืช ปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมและที่สำคัญที่สุดคือ การประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักในปี พ.ศ. 2558-2559 ซึ่งทำให้ชนิดและปริมาณของสัตว์น้ำลดลงอย่างมากสำหรับปัญหาที่ทำกินและปัญหาการบุกรุกพื้นที่กว๊านพะเยา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัญหาในพื้นที่ลุล่วงไปเป็นอย่างมาก โดยแสดงเจตจำนงใช้ประโยชน์ ตามแนวเขต นสล.(พย.0149) เนื้อที่ 12,831 ไร่ 1 งาน 26.6 ตารางวา ซึ่งมีหลักเขตของกรมธนารักษ์โดยรอบชัดเจน เพื่อให้เกิดพัฒนากว๊านพะเยาอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้แก่ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาจะส่งผลให้กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ให้กับประชาชน และก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากว๊านพะเยา จำนวน 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
0. ยุทธศาสตร์การจัดการปริมาณน้ำกว๊านพะเยา จากในปัจจุบันปริมารเก็บกักของกว๊านพะเยา อยู่ที่ 33.84 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องจัดสรรให้กับเกษตรกรที่อยู่ใต้ประตูน้ำในฤดูแล้ง จำนวนถึง 15 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และยังต้องจัดสรรให้กับการประปาส่วนภูมิภาคพะเยา ปีละ 7.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำที่เหลือสำหรับการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำเพียง 11.64 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เพียงพอและเป็นปัญหาโดยเฉพาะปี พ.ศ.2558 ที่กว๊านพะเยาประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก จนน้ำลดเหลือเพียง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีปริมาณตะกอนไหลลงประมาณปีละ 9 หมื่นลูกบาศก์เมตร (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,2547) ทำให้กว๊านพะเยา ตื้นเขินอย่างมาก โดยข้อมูลประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2559 มีความลึกเฉลี่ยเพียง 0.6 เมตร
0. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ จากปริมาณน้ำที่มีน้อยดังกล่าว จึงทำให้คุณภาพน้ำในกว๊านพะเยาเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในฤดูแล้ง โดยจากการศึกษาของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยาที่วิเคราะห์คุณภาพน้ำทุกๆ เดือน เดือนละ 12 จุดสำรวจ และข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งออกสำรวจคุณภาพน้ำทุกๆ 3 เดือน ระบุตรงกันว่า คุณภาพน้ำกว๊านพะเยาอยู่ในระดับ 4 เสื่อมโทรมมาก ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน
0. ยุทธศาสตรการจัดการสัตว์น้ำ การลดลงทั้งชนิดและปริมาณของ สัตว์น้ำโครงสร้างประชาคมปลามีการเปลี่ยนแปลง พบโครงสร้างโดยน้ำหนักของกลุ่มปลากินเนื้อต่อปลากินพืชมีสัดส่วนมากเกินไป คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมโดยเฉพาะค่าปริมาณความสกปรกในรูปอินทรีย์สาร (BOD) ที่มีค่ามากกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินของกรมควบคุมมลพิษ (2535) ในทุกจุดสำรวจในช่วงที่ปริมาณน้ำในกว๊านพะเยาลดลง การใช้เครื่องมือผิดกฎหมายในการทำประมง เช่น การใช้กระแสไฟฟ้า อวนล้อม ข่ายขนาดช่องตาเล็กเกินไป เป็นต้น
#พะเยาโมเดล
#ภารกิจชาติ
#MissionThailand
#ข่าวเกษตรออนไลน์thaiagronews
#www.thaiagronews.online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น