พะยูนมาเรียม “ทะเลไทย” ต้อง “ไร้ขยะ” “การแก้ปัญหาต้องครบวงจร เบ็ดเสร็จ ร่วมกัน บนงานวิจัยสร้างสรรค์เชิงรุก วช. ชู 5 ประเด็นหลัก”

จากการสูญเสียชีวิตของสัตว์ทะเลจากขยะพลาสติกที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น... ไม่ว่ามาเรียมพะยูนน้อย เต่า หรือวาฬ แสดงให้เห็นว่า ขยะพลาสติกสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลและสภาพแวดล้อม ดังนั้นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างครบวงจร  ตรงประเด็นและเบ็ดเสร็จทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติ บนฐานการวิจัยที่พร้อมใช้งาน และสามารถปรับไปตามสภาพปัญหาและพื้นที่ โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกันอย่างต่อเนื่องและจริงใจของทุกภาคส่วน
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศและส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน จึงเป็นหน่วยงานกลางที่ประสาน เชื่อมโยงทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันบนฐานงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์และปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการลดปัญหาการตกค้างของขยะพลาสติกในทะเล จากปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น วช. ได้ชูประเด็นในการแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านการวิจัยและพัฒนาซึ่งต้องดำเนินการใน 5 ประเด็นหลักคือ
➢ ผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกต้องผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการจัดการขยะและการนำกลับไปใช้ใหม่ สามารถตรวจสอบเส้นทางวงจรผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิตถึงวาระสุดท้ายของพลาสติก โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่ผลิตเม็ดพลาสติก ในปีนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ศึกษาแล้วมากกว่า 15 ผลิตภัณฑ์ รวมถึง บรรจุภัณฑ์ หลอด วัสดุก่อสร้าง วัสดุประกอบอาคาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
➢ ชุมชนในพื้นที่ทุกจังหวัดที่ติดทะเล จะต้องรู้วิธีจัดการขยะพลาสติกได้ด้วยตนเองและเบ็ดเสร็จในพื้นที่  ได้ดำเนินการใน 23 จังหวัดในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน อาทิ ชายหาดบางแสน แสมสาร เกาะหลีเป๊ะ และเกาะภูเก็ต
➢ ต้องมีกระบวนการเก็บและจัดการขยะในทะเลอย่างเป็นระบบในทุกพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่และชุมชน และรู้ตัวเลขขยะพลาสติกในทะเลที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายลดปริมาณขยะในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปีที่หนึ่ง และเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในปีถัดไป
➢ นำขยะพลาสติกมารีไซเคิลโดยไม่เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ โดยเฉพาะการตกค้างในสัตว์ทะเลและสิ่งมีชีวิต
➢ ลดการตกค้างของไมโครพลาสติกที่ตกค้างในทะเลและสิ่งมีชีวิตบนฐานจากการวิจัยที่สามารถเทียบมาตรฐานกับนานาชาติได้ โดย 5 ประเด็นดังกล่าวได้บรรจุไว้ในโครงการ ทะเลไทยไร้ขยะ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สัญญา  สิริวิทยาปกรณ์ สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย ซึ่งได้เริ่มการวิจัยมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทยที่เน้นการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในพื้นที่ มีการประยุกต์องค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้แก้ปัญหาจริงอย่างครบวงจรและยั่งยืน ทั้งนี้ วช.  เป็นผู้กำหนดหัวข้อวิจัยและให้การสนับสนุนทุนวิจัย ซึ่งมีแผนงานในภาพรวมประกอบด้วย
1. การจัดการพลาสติกอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิตในระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตในภาคเอกชนในการวางระบบติดตามผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิตเม็ดพลาสติกจนถึงปลายทาง เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตผลิตภัณฑ์ การนำไปใช้ และการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อกำจัดปัญหาขยะที่ทิ้งสู่ทะเลจากบนบกในระยะยาวและเป็นการกำจัดปัญหาขยะทะเลจากต้นทาง
2. องค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดนไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวตามมาในภายหลัง โดยการทำงานร่วมกับผู้ผลิตและภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีและเชิงสังคม รวมถึง การสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติก และรีไซเคิลพลาสติกที่ การกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการนำมาใช้งานและกำจัด การสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายและสร้างความตระหนักรวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาผ่านระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
3. การวิจัยเพื่อจัดการขยะทะเลตกค้างที่มีขนาดใหญ่จนถึงไมโครพลาสติก โดยการทำงานร่วมกับ ภาคประชาสังคมในพื้นที่และหน่วยงานระดับท้องถิ่นเพื่อลดและป้องกันปัญหาขยะตกค้างอย่างยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีและเชิงสังคม รวมถึงการสร้างเครือข่าย “นักรักทะเลไทย” เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมผ่านสื่อหลากหลายรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์และกิจกรรมต่าง ๆ
การนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อช่วยในการเก็บรวบรวมขยะตกค้าง การกำหนดมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ไมโครพลาสติก เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบของขยะพลาสติกตกค้างในทะเลในระยะยาวอย่างยั่งยืน“ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถลดการสูญเสียชีวิตของสัตว์ทะเลจากขยะพลาสติก และสัตว์ทะเลจะได้รับการป้องกันจากอันตรายและผลกระทบจากขยะทะเลในที่สุด”
ด้านดร.วิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยสร้างขยะราว 28 ล้านตันต่อปี เป็นขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี  ในจำนวนนี้มีการกำจัดโดยรีไซเคิลและฝังกลบประมาณ 5 แสนตัน ที่ยังเหลืออยู่อีกประมาณ 1.5 ล้านตันมี 80% ที่ออกสู่ทะเลที่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล
ทำให้สัตว์ทะเลตาย ขณะที่ไมโครพลาสติกที่มีขนาดต่ำกว่า 5 มิลลิเมตรสามารถสะสมเป็นตะกอนและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร กระทรวงฯได้ดำเนินการเพื่อลดการใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีแผนแล้ว โดยทุกคนจะต้องลดใช้จากปัจจุบันใชักัน 1.1 กิโลกรัม/คน/วัน เชื่อว่า การตายของพะยูนจะช่วยจุดประกายให้มีการแก้ปัญหาร่วมกัน กลายเป็นโจทย์วิจัยเพื่อนำสู่การปฏิบัติต่อไป
ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวในทุกภาคส่วน วช. จึงจัดการแถลงข่าว เรื่อง “พะยูนมาเรียม” “ทะเลไทย” ต้อง “ไร้ขยะ” ขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2562 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รองศาสตราจารย์  ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย ทะเลไทยไร้ขยะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. ร่วมกันแถลงข่าว


Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts

ค้นหาบล็อกนี้

Contact Us ::

📲 (+66) 081 4345154
✉️ Insightoutstory@gmail.com

Add Line📲 Click 👇👇

Translate

🚉 ช.ส.ท.พาเที่ยว นครฯ

Review By Nichapa

POPULAR NEWS

Fanpage Facebook

ป้ายกำกับ

คลังบทความของบล็อก