ด้วยความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และความพร้อมด้านการเชื่อมโยงระบบ โลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเลสุดชายแดนทั่วทุกภูมิภาค จึงทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนที่มีศักยภาพอันโดดเด่น สามารถเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดชายแดนไทย (จังหวัดกาญจนบุรี ตาก เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา และนราธิวาส)
จากศักยภาพของ 10 จังหวัดชายแดนไทยที่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและการลงทุนกับอนุภูมิภาคตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekhong Subregion Economic Corridor: GMS) แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (South Economic Corridor) และแนวเส้นทางเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตอนใต้ (Sub-Coastal Economic Corridor: SEC) ทำให้ระบบโลจิสติกส์
ในพื้นที่ชายแดนของประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงระบบคมนาคมและขนส่ง อย่างทั่วถึง โดยในอนาคตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทยจะสามารถยกระดับเป็นประตูเส้นทางเศรษฐกิจ(Economic Gateway) ในภูมิภาคอาเซียนที่สร้างมูลค่าทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นอกจากศักยภาพด้านที่ตั้งของพื้นที่และการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพตามแนวระเบียงทางเศรษฐกิจต่าง ๆ แล้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดชายแดนไทย ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งด้านสิทธิประโยชน์ มาตรการส่งเสริมการลงทุน และการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Services:OSS) เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการข้อมูลด้านการค้าการลงทุน รวมทั้งประสานการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยอำนวยความสะดวกด้านพิธีการและข้อมูลข่าวสารต่าง ๆแก่นักลงทุนและผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิ ด่านศุลกากรและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุนอีกด้วย
ด้วยศักยภาพดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ เข้ามาร่วมลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย จังหวัดกาญจนบุรี ตาก เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา และนราธิวาส เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเชื่อมโยงการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทย ให้ก้าวสู่การเป็นประตูเส้นทางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น