จากการศึกษาภาระโรคทั่วโลก (Global Burden of Disease) พบว่า ในประเทศไทย พ.ศ. 2560 มีเด็กจำนวน 5,807 คนเสียชีวิตก่อนมีอายุครบ 5 ปี ในขณะที่เมื่อพ.ศ. 2543 เสียชีวิตมากถึง 18,509 คน โดยพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นอ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีอัตราการตายสูงสุดอยู่ที่ 19.6 คน ส่วนอัตราการตายต่ำสุดที่ 4.5 คน อยู่ที่อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ความผิดปกติของทารกแรกเกิด เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเด็กวัยก่อน 5 ปี ทั้งในพ.ศ. 2543 และพ.ศ. 2560 นอกจากนี้ กว่าครึ่งของเด็กที่เสียชีวิตทั้งหมดในช่วงที่ทำการศึกษานี้ล้วนมาจากสาเหตุดังกล่าว
การศึกษานี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาภาวะการเสียชีวิตในเด็กในระดับสาธารณสุขท้องถิ่นของประเทศที่มีรายได้ระดับล่างและระดับกลางจำนวน 99 ประเทศทั่วโลก ผลการศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร เนเชอร์ (Nature) ในวันนี้แสดงถึงแผนผังความไม่เท่าเทียมด้านสาธารณสุขทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งมักเห็นไม่ชัดเจนในการวิเคราะห์ระดับประเทศ และยังมี แผนภูมิเชิงปฏิสัมพันธ์ ที่แสดงอัตราการเสียชีวิตในเด็กในแต่ละปีอีกด้วย
จากการศึกษาโดยสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation – IHME) แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตันเผยว่า ในประเทศต่างๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กสูงกว่าร้อยละ 90 เมื่อพ.ศ. 2560 เมื่อเปรียบเทียบทุกประเทศที่ทำการศึกษา แนวโน้มของเด็กที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปีมีความต่างกันในระดับสาธารณสุขท้องถิ่นมากกว่า 40 เท่า
นักวิจัยได้ประเมินว่า หากสาธารณสุขท้องถิ่นทุกแห่งในประเทศที่มีรายได้ระดับล่างถึงระดับกลางที่ทำการศึกษาสามารถทำได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDG) ของสหประชาชาติ จะส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตลดลงอย่างน้อย 2.6 ล้านคน หรือ 25 คนต่อเด็กที่เกิดมา 1,000 คน และหากสาธารณสุขท้องถิ่นทุกแห่งสามารถยกระดับขึ้นมาได้ในระดับเดียวกับโรงพยาบาลชั้นแนวหน้าของประเทศนั้นๆ คาดว่า จำนวนเด็กเสียชีวิตจะสามารถลดลงได้ถึง 2.7 ล้านคน
จากสาธารณสุขท้องถิ่นจำนวน 17,554 แห่งใน 99 ประเทศที่ทำการศึกษานั้น ส่วนใหญ่มีพัฒนาการที่ดีในการลดการเสียชีวิตในเด็ก แต่ในระหว่างการศึกษา ระดับของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสาธารณสุขท้องถิ่นแต่ละแห่งนั้นต่างกันไป แม้ว่าโดยมากแล้วการเสียชีวิตในเด็กจะลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุดในพ.ศ. 2560 ก็ยังคงอยู่ในชุมชนเดิมๆ ที่เคยมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเมื่อพ.ศ. 2543
ดร. ไซมอน ไอ. เฮย์ ผู้อำนวยการกลุ่มภาระโรคท้องถิ่น (Local Burden of Disease – LBD) ของสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ และเป็นนักวิจัยอาวุโสของการศึกษานี้ กล่าวว่า “เป็นเรื่องแย่และน่าเศร้าที่โดยเฉลี่ยแล้วมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตเกือบ 15,000 คนทุกวัน น่าสงสัยว่า ทำไมบางพื้นที่จึงทำได้ดี ในขณะที่อีกหลายพื้นที่ยังมีปัญหาในการที่จะลดจำนวนเด็กเสียชีวิต เราจำเป็นต้องเลือกวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด เช่น การให้วัคซีนต่างๆ ซึ่งผลการศึกษาของเราได้ให้รูปแบบข้อมูล (platform) สำหรับรัฐมนตรีสาธารณสุข คณะแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ เพื่อใช้ในการระบุพื้นที่ที่ควรเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุข”
ดร. เฮย์กล่าวว่า การศึกษานี้ได้รับทุนจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ โดยผลการศึกษาเผยให้เห็นถึง พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จด้านสาธารณสุข ซึ่งสามารถนำกลยุทธ์ของพื้นที่เหล่านั้นไปปรับใช้ได้กับพื้นที่อื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ยกตัวอย่างจากประเทศรวันดา ในพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นที่มีอัตราเด็กเสียชีวิตสูงที่สุดในพ.ศ. 2560 มีจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นที่มีอัตราเด็กเสียชีวิตต่ำสุดเมื่อพ.ศ. 2543 ซึ่งอัตราการเสียชีวิตในเด็กที่ลดลงนี้ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนเพื่อสุขภาพเด็กในชุมชนที่ยากจนที่สุด การขยายตัวของการประกันสุขภาพ และการเพิ่มจำนวนของบุคลากรด้านสาธารณสุขในชุมชน ส่วนประเทศเนปาล มีการลดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสาธารณสุขท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา ในขณะเดียวกัน ประเทศเปรู ก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิตในเด็กและความไม่เท่าเทียมลงได้หลังจากริเริ่มโครงการเพื่อสุขภาพและโครงการต้านความยากจนอย่างยั่งยืน
ผลการศึกษานี้ ได้ประเมินทั้งอัตราและจำนวนที่แน่นอนของการเสียชีวิตในแต่ละพื้นที่ของสาธารณสุขท้องถิ่น และนำเสนอภาพรวมของการเสียชีวิตในเด็กทั่วโลก ซึ่งชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มและรูปแบบที่สำคัญในประเด็นดังกล่าว
จากการศึกษาพบว่า สัดส่วนของการเสียชีวิตในเด็กนั้นเพิ่มสูงขึ้นในบริเวณที่เคยมีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมต่ำ และพบว่า ทั้งการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด (การเสียชีวิตของทารกในช่วง 28 วันหลังคลอด) และการเสียชีวิตของทารก (การเสียชีวิตของทารกในช่วงขวบปีแรก) มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับวิธีจัดการให้เข้ากับท้องถิ่น
ดร. เฮย์และทีมวิจัยกำลังศึกษาลงลึกในรายละเอียดของกลุ่มปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอดของเด็ก ซึ่งรวมถึงด้านการศึกษา ภาวะทุพโภชนาการ และการป้องกันโรค เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับอุปสรรคที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละภูมิภาค
ผลการศึกษาในครั้งนี้ ยังพบว่า:
• ในพ.ศ. 2560 เกือบ 1 ใน 3 ของสาธารณสุขท้องถิ่นจำนวน 17,554 แห่งใน 99 ประเทศที่ทำการศึกษานั้นสามารถทำได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือมีการเสียชีวิตในเด็กไม่เกิน 25 คนต่อเด็กที่เกิดมา 1,000 คน
• ใน 43 ประเทศที่ทำการศึกษานั้น พื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กที่แย่ที่สุดในพ.ศ. 2560 นั้น ก็ยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กที่ดีที่สุดในพ.ศ. 2543
• อัตราการเสียชีวิตในเด็กสูงสุดในพ.ศ. 2543 ในระดับท้องถิ่นนั้นเกิน 300 คนต่อเด็ก 1,000 คนเพียงเล็กน้อย ส่วนในพ.ศ. 2560 อัตราการเสียชีวิตในเด็กที่สูงสุดคือ 195 คนต่อเด็ก 1,000 คน ซึ่งทั้งสองสถิตินั้นเป็นของประเทศไนจีเรีย
• ส่วนในระดับประเทศนั้น โคลัมเบีย กัวเตมาลา ลิเบีย ปานามา เปรู และเวียดนาม ล้วนประสบความสำเร็จในการทำตามเป้าหมาย คือ มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กไม่เกิน 25 คนต่อเด็ก 1,000 คนในพ.ศ. 2560 แต่ก็มีหลายเทศบาล อำเภอ หรือจังหวัดที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้า
• ในช่วงที่ทำการศึกษา ร้อยละ 91 ของประเทศทั้งหมดที่ทำการศึกษา มีสัดส่วนของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดจนถึง 28 วันหลังคลอดเพิ่มขึ้น และร้อยละ 83 ของสาธารณสุขท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้น ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
• มีการเพิ่มสูงขึ้นของสัดส่วนการเสียชีวิตในเด็กในพื้นที่ที่เคยมีอัตราการเสียชีวิต “ต่ำ” โดยในพ.ศ. 2543 มีการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 1.2 ในพื้นที่ที่ทำได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ แต่ในพ.ศ. 2560 สัดส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าเป็นร้อยละ 7.3
• ในพ.ศ. 2543 ประมาณร้อยละ 25 ของการเสียชีวิตในเด็กเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กต่ำกว่า 80 คนต่อเด็ก 1,000 คน ส่วนในพ.ศ. 2560 เกือบร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตในเด็กเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีการเสียชีวิตของเด็กต่ำกว่า 80 คนต่อ 1,000 คน
โครงการของกลุ่มภาระโรคท้องถิ่นได้มอบการชี้วัดผลลัพธ์ด้านสุขภาพและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมทุกทวีปและลงลึกในระดับท้องถิ่น คณะผู้นำโครงการกำลังต้องการผู้ร่วมงานเพิ่ม ซึ่งรวมถึงนักวิชาการ นักวิจัย ฯลฯ เพื่อให้ข้อมูลและประเมินผลการศึกษา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อทีมงานกลุ่มภาระโรคท้องถิ่นได้ที่ gbdsec@uw.edu
ผู้สนใจทั่วไปสามารถดูการชี้วัดต่างๆ ที่ได้จากการศึกษานี้ได้ที่เว็บไซต์ Global Health Data Exchange: http://ghdx.healthdata.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น