โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ในปีนี้
ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิตจำกัด กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 8 ว่า “ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันลดการแพร่ระบาดด้วยการรักษาระยะห่าง โครงการตามรอยพ่อฯ จึงได้ปรับแผนการดำเนินกิจกรรมโดยเน้นช่องทางออนไลน์เป็นหลักมากว่า 4 เดือน (มี.ค.-มิ.ย.63) เพื่อให้กำลังใจและความรู้แก่ประชาชนในการนำศาสตร์พระราชามาใช้รับมือวิกฤตในครั้งนี้ ขณะนี้จากมาตรการเข้มข้นของภาครัฐกอปรกับความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวไทย ทำให้เราสามารถรับมือกับวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับเสียงชื่นชมจากหลายประเทศ ภาครัฐจึงมีมาตรการผ่อนปรน เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตในแบบ New Normal หรือ วิถีชีวิตแบบปกติใหม่ที่ยังคงเน้นการดูแลตัวเองเพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 โครงการตามรอยพ่อฯ จึงได้กำหนดแผนการดำเนินกิจกรรมออนกราวด์ขึ้นอีกครั้ง ทั้งกิจกรรมฝึกอบรมและกิจกรรมเอามื้อสามัคคี หรือ การลงแขกอย่างโบราณนั่นเอง เพื่อน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 20,000 คน
ทั้งนี้กิจกรรมออนกราวด์จะทำควบคู่กับการสื่อสารออนไลน์ต่างๆ ของโครงการ ซึ่งยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ
ทั้งนี้ กิจกรรมออนกราวด์ของโครงการตามรอยพ่อฯ ปี 8 จะเริ่มด้วยการฝึกอบรม หลักสูตรการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤต หรือ CMS (Crisis Management Survival Camp) หัวข้อของการฝึกอบรม คือ ‘CMS สู้ อยู่ หนี รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา’ ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (วัดใหม่เอราวัณ) อ.เมือง จ.ลพบุรี
ส่วนกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ปีนี้กำหนดจัด 2 ครั้ง ครั้งแรกที่ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียงบอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ศูนย์การเรียนรู้ที่อดีตผู้ว่าราชการ จ. ชัยภูมิ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต ได้รวบรวมคนมีใจและมีความรู้ด้านหลักกสิกรรม มาถ่ายทอดความรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวชัยภูมิ และครั้งที่ 2 ณ โคก หนอง นาขาวัง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่ง ขาวัง คือ ร่องน้ำรอบแปลงนา เป็นผืนนามหัศจรรย์แห่งภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชาวนาบางปะกง ผืนนาที่นี่เป็นพื้นที่ระบบนิเวศ 3 น้ำ มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ทำนาในฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งตั้งแต่น้ำกร่อยจนน้ำเค็มก็เลี้ยงกุ้งหอยปูปลา ซึ่งที่นี่อาจเป็นผืนนานิเวศ 3 น้ำที่เดียวในโลก โดยจะมีกิจกรรมการปั่นจักรยานรณรงค์จากโคก หนอง นามหานคร (หนองจอก) ถึง โคก หนอง นาขาวัง จ.ฉะเชิงเทรา อีกด้วย นอกจากนี้ โครงการยังมีช่องทางสื่อสารในรายการเจาะใจ ซึ่งจะออกอากาศทางช่อง MCOT HD ในเดือนธันวาคม 2563
ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรมออนกราวด์ โครงการฯ ได้จัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ร่วมกิจกรรม อาทิ หน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ ถุงมือผ้า ถุงมือยาง แอลกอฮอล์ทั้งแบบน้ำและแบบเจล และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคบริเวณที่พักและอาคารที่มีการรวมตัวกัน ทั้งกำหนดระยะห่างระหว่างบุคคลในขณะทำกิจกรรม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย New Normal ของรัฐบาลอีกด้วย
ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น