28 กันยายน 2563 – “โรคมะเร็งตับ” ถือเป็นวิกฤตทางสุขภาพอันดับต้น ๆ ในประเทศไทยและทั่วโลก[1] จากสถิติเผยว่ามะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตของประชากรไทยเป็นอันดับหนึ่ง มีคนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งตับมากกว่า 23,000 คนต่อปี2 นั่นคือในทุก ๆ ชั่วโมงจะมีคนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งตับสูงถึง 2.6 คน ซึ่งตัวเลขนี้ยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี โดยส่วนใหญ่พบในเพศชายสูงกว่าเพศหญิงถึง 2.3 เท่า3 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับในคนไทยคือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทั้งชนิด บี และ ซี2 และอาจเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจนเกิดภาวะไขมันพอกตับ การดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่เหมาะสมและการบริโภคอาหารที่ไม่ปรุงสุก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิต แต่ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าของนวัตกรรมของยา และการรักษาโรคมะเร็งตับ ซึ่งจะสามารถช่วยชะลอการลุกลามของโรคและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยได้มากขึ้น
ผศ.นพ.สืบพงศ์ ธนสารวิมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคมะเร็ง ภาควิชามะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.นพ.สืบพงศ์ ธนสารวิมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคมะเร็ง ภาควิชามะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “มะเร็งตับชนิดที่พบได้บ่อย คือมะเร็งที่เซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma) ในปัจจุบันวิธีการรักษามะเร็งชนิดนี้ในคนไข้ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ที่นิยมกัน ได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัดทั้งทางหลอดเลือด และการให้ยาเคมีบำบัดที่ก้อนมะเร็งโดยตรง การฉายแสง รวมถึงการใช้ยามุ่งเป้าเพื่อเพิ่มความเฉพาะเจาะจงในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับ ที่เป็นยายับยั้งไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase inhibitor) ในรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน ในปัจจุบันทางการแพทย์ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีการรักษาที่ดีขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และยืดอายุของคนไข้”
แม้โรคมะเร็งตับจะมีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่หากได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ก็สามารถช่วยยับยั้งการลุกลามของโรคและยืดอายุคนไข้ให้นานยิ่งขึ้นได้ สำหรับคนไข้ที่เป็นมะเร็งที่เซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma) และไม่สามารถผ่าตัดได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย ได้อนุมัตินวัตกรรมยารักษามะเร็งตับแบบใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยนวัตกรรมยาใหม่นี้นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ ที่ทางการแพทย์พิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มอัตราการรอดของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับยายับยั้งไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase inhibitor) ในรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทานที่มีอยู่เดิม5
นวัตกรรมยาที่ใช้รักษาแบบใหม่ที่กล่าวถึงนี้ คือการใช้ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ร่วมกับ ยาต้านการสร้างหลอดเลือดที่คอยให้อาหารแก่ก้อนมะเร็ง (Anti-angiogenesis) ซึ่งยาทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าการใช้ยาทั้ง 2 ชนิด มีผลในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็ง โดยยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น และยาต้านการสร้างหลอดเลือดจะลดปริมาณหลอดเลือดซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงอาหารไปยังเซลล์มะเร็ง มีผลทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถเจริญเติบโตได้ โดยสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยและช่วยควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามได้ สูงขึ้นถึง 42% และ 41% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับยายับยั้งไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase inhibitor)6 ซึ่งการใช้ยาดังกล่าวขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา รวมถึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุด
รศ.นพ. เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย (Thai Society of Clinical Oncology: TSCO)รศ.นพ. เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย (Thai Society of Clinical Oncology: TSCO) กล่าวว่า “จากข้อมูลประสิทธิภาพของการใช้ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด (Anti-angiogenesis) เพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับที่ออกมานั้น ถือเป็นข่าวดีที่จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ต่อไปนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยในอนาคต”
“ปัจจุบันทางมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย (TSCO) ได้ทำการศึกษาเพื่อเก็บข้อมูลประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ตลอดจนผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต รวมถึงค่าใช้จ่ายในมุมของผู้ป่วย โดยได้รับความร่วมมือจากทางโรช ไทยแลนด์ จำกัด ที่ได้สนับสนุนการเข้าถึงการรักษาดังกล่าว จึงช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลสำคัญเหล่านี้ได้ระหว่างการขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งข้อมูลที่ได้ดังกล่าวอาจจะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาการเบิกจ่ายของการรักษาใหม่นี้ในอนาคต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป” ผศ.นพ.สืบพงศ์ ธนสารวิมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคมะเร็ง ภาควิชามะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด ถือเป็นความก้าวหน้าของวิทยาการการแพทย์เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษามะเร็งตับในประเทศไทย ทำให้คุณภาพชีวิตและอัตราการรอดชีวิตเฉลี่ยของผู้ป่วยสูงขึ้นได้ในระยะยาว สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ผ่านทางแพทย์ผู้รักษา