รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณและแนวโน้มที่ดีสำหรับไทยกับซาอุดีอาระเบีย เพราะจากการเดินทางไปซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ในฐานะคณะผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 16 สถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม (Standards and Metrology Institute for Islamic Countries - SMIIC) ภายใต้องค์การ OIC ซึ่งมีสมาชิก 42 ประเทศกับประเทศผู้สังเกตการณ์ 3 ประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทย ณ นครมะดีนะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยองค์การมาตรฐานของซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia Standards Organization -SASO) เป็นเจ้าภาพของการประชุมเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้
นอกจากนี้ทางคณะได้เข้าพบ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมะดีนะฮฺ (Islamic University of Madinah หรือ IUM) ในประเด็นเรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เสนอความก้าวหน้าด้านงานวิจัย การใช้ห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮาลาล การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทวนสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลฮาลาลวัตถุดิบ (H number) ให้แก่ทีมอธิการบดีและรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย
และนายสรจักร บูรณะสัมฤทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้นำคณะผู้แทนประเทศไทย เข้าพบหารือกับ องค์กรอาหารและยาของประเทศซาอุดีอาระเบีย (Saudi Food and Drug Authority หรือ SFDA) และหอการค้าเมืองเจดดาห์ (Jeddah Chamber) โดยประเด็นการหารือทั้ง 2 หน่วยงานจะเน้นในเรื่องความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง 2 ประเทศในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งในอนาคตอาจมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการสร้างความร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศ และได้เสนอเรื่องการทำหลักสูตรอบรมด้านห้องปฏิบัติการให้แก่หน่วยงาน Halal center ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ SFDA สามารถส่งบุคลากรมาอบรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เนื่องจาก ศวฮ.นั้นมีศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล จากการได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำมาตรฐานของ SMIIC อีกทั้งยังมีประสบการณ์ด้านงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลมามากกว่า 20 ปี
นอกจากนี้ SFDA ยังได้เพิ่มชื่อ CICOT เป็นสมาชิกในฐานะเป็นหน่วยงานรับรองฮาลาล ส่งผลให้เครื่องหมายรับรองฮาลาลของประเทศไทยผ่านหลักเกณฑ์ที่หน่วยงาน SFDA กำหนด ทำให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียได้ ในส่วนของการเข้าพบหอการค้าเมืองเจดดาห์ ทางสมาชิกสภาหอการค้าพิจารณาว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องทรัพยากรอาหาร อุตสาหกรรมการเกตษตร หากมีการยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศสู่ระดับปกติ ประเทศไทยจะเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของซาอุดีอาระเบีย นับว่าเป็นแนวโน้มอันดีในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้ดีขึ้นเป็นปกติเช่นเดิม รศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น