องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง ได้กล่าวในการเริ่มประชุมว่า โครงการหลวงได้น้อมนำแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของคนบนพื้นที่สูง นำร่องการแก้ไขปัญหาบนพื้นที่สูง เป็นต้นแบบการดำเนินงานให้แก่รัฐบาล สืบสาน รักษา และต่อยอดมาตลอดระยะเวลา 53 ปี เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ดังพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะนี้พื้นที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่สูง 10 จังหวัด ประชากร 130,000 ครัวเรือน ใน 1,116 กลุ่มบ้าน คิดเป็นร้อยละ 26.54 ของจำนวนกลุ่มบ้านบนพื้นที่สูงของประเทศทั้งหมด
โดยมูลนิธิโครงการหลวงเป็นองค์กรหลักดำเนินงานในพื้นที่ 39 แห่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงนำแบบอย่างการพัฒนาของโครงการหลวงไปขยายผลปฏิบัติในพื้นที่อีก 44 แห่ง ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล พร้อมการประสานความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 30 หน่วยงาน แก้ไขปัญหาแบบมุ่งเป้าคือ ขจัดความยากจน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นที่สูง ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2565 ผลงานวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ 89 ชนิด สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรบนฐานความรู้ตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 พันล้านบาท เป็นการส่งเสริมอาชีพเน้นการผลิตพืชใหม่มูลค่าสูง ภายใต้หลักวิชาการการใช้พื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีความรู้ในวิชาชีพ มีรายได้เพิ่ม ลดการใช้พื้นที่ ลดการเผาทำลายและการใช้สารเคมี พร้อมไปกับการส่งเสริมการรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด ดูแลสุขอนามัยแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลสถานพยาบาล ยกระดับการศึกษาเยาวชน ส่งเสริมอาชีพแก่ผู้พิการ ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด และประสานความร่วมมือกับชุมชนในการฟื้นฟูป่า มุ่งยกระดับการพัฒนาสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ โดยพื้นที่โครงการหลวงได้รับการรับรองมาตรฐานชุมชนคาร์บอนต่ำ จากมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว 21 ชุมชน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุม ได้กล่าวว่า การบุกเบิกสร้างการพัฒนาบนพื้นที่สูงของโครงการหลวงเป็นแบบอย่างที่ดี มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม จึงขอให้ทุกหน่วยราชการ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล นำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุข แก้ไขปัญหาความยากจน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเข้าไปศึกษาเรียนรู้งานโครงการหลวง บูรณาการแผนงาน แผนเงิน แผนคน ให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม
ขณะนี้โครงการหลวงได้วางเป้าหมายสู่การพัฒนาเป็นสถาบันการเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้องค์ความรู้และรูปแบบการพัฒนาแบบโครงการหลวงขยายออกไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ซึ่งตั้งขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางของการวิจัย บุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น