สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตระหนักถึงความจำเป็นดังกล่าวจึงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย (Thai Breast Disease Society: TBS), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS, คณะทำงานพัฒนาระบบบริการดูแลรักษาโรคหายาก, มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และ โรช ไทยแลนด์ ได้จัดงาน Personalised Healthcare: Beat Cancer Together ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอกย้ำบทบาทและความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มุ่งขยายโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลในประเทศไทย จากการวางยุทธศาสตร์ไปสู่แนวทางปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต
นวัตกรรมดังกล่าวอาศัยเทคโนโลยีการตรวจยีนแบบครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) ที่ช่วยเผยให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจถึงความหลากหลายของความผิดปกติทางพันธุกรรม (genomic mutation) อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคหายาก เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการตัดสินใจมอบตัวเลือกการรักษาด้วยยามุ่งเป้า (targeted therapy) หรือ ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) ที่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคน ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยอาจเริ่มที่ผู้ป่วยมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ การยกระดับความพร้อมด้านการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลยังนำมาซึ่งการบริหารจัดการงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการผลักดันสถานะของประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
นวัตกรรมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2564 ดัชนีประเมินความพร้อมการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Asia-Pacific Personalised Health Index) ซึ่งจัดทำโดยคณะนักวิชาการชั้นนำผู้ทรงคุณวุฒิ เผยให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 11 ประเทศ ประเทศไทยได้คะแนนอยู่อันดับที่ 7 ซึ่งยังนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวมของกลุ่ม ทั้งนี้ ด้านที่ประเทศไทยทำได้ดีเยี่ยมเป็นอันดับหนึ่งเหนือกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค คือด้านนโยบายเพื่อสนับสนุนการนำการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลมาใช้ แต่ในทางกลับกัน ด้านที่ไทยยังต้องปรับปรุงพัฒนาอยู่คือ Personalised Technologies
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน Personalised Healthcare: Beat Cancer Together เพื่อให้ตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ว่าการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศด้วยนวัตกรรมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลมีส่วนช่วยให้การพยากรณ์โรคและการรักษาผู้ป่วยในอนาคตมีความแม่นยำ โดย สวรส. หวังว่าประชาชนไทยทุกคนควรได้รับโอกาสเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ในรูปแบบนี้ได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ดังนั้น ผู้มีอำนาจตัดสินใจควรใช้ประโยชน์จากข้อมูลมาเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อสุขภาพ และควรส่งเสริมความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ การตรวจรักษาที่ทันสมัย และการรักษาใหม่ ๆ ให้เข้าไปสู่ชุดสิทธิประโยชน์สำหรับคนไทยทั้งประเทศ
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ล่าสุด การดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลในประเทศไทยมีความคืบหน้าไปอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศ ด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์บนพื้นฐานของความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products; ATMPs) การนำเซลล์และยีนบำบัดไปใช้ในการรักษามะเร็ง ในส่วนของสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านสุขภาพที่รวบรวมและสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่ของคนไทย ให้นักวิจัยได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ต่อยอดงานวิจัยในอนาคต หนึ่งในโครงการสำคัญที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่คือ โครงการถอดรหัสพันธุกรรม (Whole Genome Sequencing: WGS) ของผู้ป่วยชาวไทย นางสาวสุกัญญา วัฒนาโภคยกิจ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ และหัวหน้าศูนย์สกัดสารพันธุกรรม สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ รายงานความคืบหน้าให้ทราบว่า “งานสกัดสารพันธุกรรมสำหรับโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยได้รับตัวอย่างมาแล้วมากถึง 11,986 ตัวอย่าง จากโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยแบ่งเป็นโรคหายาก 4,113 ตัวอย่าง โรคมะเร็ง 3,803 ตัวอย่าง โรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases: NCDs) 3,352 ตัวอย่าง เภสัชพันธุศาสตร์ 669 ตัวอย่าง และโรคติดเชื้ออีก 57 ตัวอย่าง โดยตัวอย่างจำนวนมากถึง 67.57% ผ่านการสกัดสารพันธุกรรมเรียบร้อยแล้ว”
นางสาวสุกัญญา วัฒนาโภคยกิจ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ และหัวหน้าศูนย์สกัดสารพันธุกรรม สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์
ทั้งนี้ บทบาทและความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยให้มีสถานะเป็นผู้นำด้านการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลได้ในอนาคต คุณวราภรณ์ สุวรรณเวลา ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “สปสช. มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อการดูแลประชาชนชาวไทย ให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพและการรักษา และคงความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในแง่ของการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล สปสช. เชื่อว่าหากบุคลากรทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ ย่อมนำไปสู่การเลือกตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับงบประมาณ ดังนั้น สปสช. จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการหารือยุทธศาสตร์ระดับชาตินี้ด้วยกัน”
คุณวราภรณ์ สุวรรณเวลา ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นวัตกรรมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับเส้นทางการรักษาให้แก่ผู้ป่วยโรคหายาก แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ แต่การได้รับตัวเลือกการรักษาที่พัฒนามาตรงกับความต้องการเฉพาะโรคกลับสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหายาก รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ ประธานคณะทำงานพัฒนาระบบบริการดูแลรักษาโรคหายาก กล่าวว่า “ปัจจุบันทางคณะกรรมการโรคหายากพยายามผลักดันการรักษาแบบจำเพาะบุคคลในระดับองค์รวม นับตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย และการรักษา เพราะฉะนั้นการรวบรวมข้อมูลในรูปแบบของฐานข้อมูล (data registry) ที่มีความต่อเนื่อง จนถึงการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล และบูรณาการกับข้อมูลของจีโนมิกส์ประเทศไทย เพื่อสร้างชุดสิทธิประโยชน์อย่างสมเหตุสมผล (Coverage with Evidence Development: CED) ที่จะช่วยให้ขั้นตอนการพิจารณาการเบิกจ่ายเป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ภายใต้พื้นฐานของการเพิ่มการเข้าถึง ความเท่าเทียมและความยั่งยืนของกองทุน”
รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ ประธานคณะทำงานพัฒนาระบบบริการดูแลรักษาโรคหายาก
ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี นายแพทย์พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ กล่าวว่า “มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนการนำนวัตกรรมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล หรือ Personalised Healthcare มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอีอีซี มีความยินดีที่จะสนับสนุนประสานงานกับพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการศึกษา และพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน ที่จะช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ชั้นสูง และยกระดับบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน และหากบริษัทชั้นนำใด ๆ ประสงค์ที่จะมาร่วมงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำการวิจัย การผลิต หรือการบริการที่เกี่ยวกับ Personalised Healthcare ในประเทศไทย อีอีซีมีความยินดีที่จะช่วยอำนวยความสะดวก และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
นายแพทย์พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร กรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ซึ่งมาร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์การทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย ถึงความสำคัญและความจำเป็นของการเข้าถึงการรักษาแบบจำเพาะบุคคล “ผู้ป่วยแต่ละบุคคลมีลักษณะทางพันธุกรรมหรือยีนแตกต่างกัน ทำให้สภาวะสุขภาพ รวมถึงโรคร่วมต่าง ๆ แตกต่างกันไปด้วย ฉะนั้น รูปแบบการคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย การรักษา และการติดตามผล จึงควรปรับเปลี่ยนให้แตกต่างกันไปตามความต้องการของผู้ป่วยรายบุคคล ในอดีต ผู้ป่วยทุกรายมักได้รับการรักษาบนมาตรฐานเดียวกัน (one-size-fits-all approach) ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาตามขั้นตอน เมื่อผลลัพธ์การรักษาไม่ดี แพทย์จึงปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือปรับเปลี่ยนชนิดยา ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และโอกาสเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเอง ในทางกลับกัน หากผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงแนวทางการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล ทุกขั้นตอนในเส้นทางการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การหาข้อมูลเกี่ยวกับโรค การตรวจวินิจฉัย และการรักษา ย่อมพลิกโฉมไปในทิศทางที่ดีขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม สามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ”
นายแพทย์ อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร กรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง
ทั้งนี้เดือนมิถุนายนของทุกปี คือเดือนแห่ง Cancer Survivor Month ซึ่งเป็นเดือนที่ทั่วโลกมาร่วมกันแสดงความยินดีและให้กำลังใจกับผู้ป่วยที่เอาชนะมะเร็งได้สำเร็จ การร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดียิ่ง ในการขับเคลื่อนการเข้าถึงการตรวจและการรักษาด้วยยานวัตกรรม ที่จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งและผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล รวมถึงการยกระดับด้าน Personalised Technologies จาก ดัชนีเผยความก้าวหน้าของประเทศไทยสู่การเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ที่จัดอันดับโดย FutureProofingHealthcare.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น