เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดกิจกรรมพบปะสื่อมวลชน เพื่อสื่อสารบทบาทหน้าที่ของ สกสว. ภายใต้พันธกิจการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยการกำหนดแผนกลยุทธ์องค์กร และ วิสัยทัศน์ ให้ สกสว. “เป็นองค์กรหลักในการยกระดับศักยภาพและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) อย่างมีส่วนร่วม เพื่อส่งมอบคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนนำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว” เป็นกรอบแนวทางในการนำองค์กรไปสู่องค์กรสมรรถนะสูงในการขับเคลื่อนนโยบายด้าน ววน. และจัดการงบประมาณของกองทุน ววน. ให้เกิดความคุ้มค่าอย่างมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมครั้งสำคัญ ทั้งในมิติของการพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรม และการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้มีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ ของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย” หรือ “สกว.” มาเป็น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อรับภารกิจสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ของประเทศ ให้ครอบคลุมทุกสาขาการวิจัยและวิทยาการทุกแขนง ตลอดจนสร้างองค์ความรู้พัฒนานโยบายสาธารณะ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยการจัดทำแผนด้าน ววน. เพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา “พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และยกระดับคุณภาพชีวิต ก้าวเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว และพร้อมสำหรับโลกอนาคต ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย โดยการสานพลังหน่วยงานในระบบ ววน. รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม” ซึ่งปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติ แผนด้าน ววน. ปี 2566-70 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มี ความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและ นวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
รวมถึงการบริหารและจัดสรรงบประมาณ ววน. อย่างมีธรรมาภิบาล ภายใต้การกำกับทิศทางของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยการจัดทำกรอบงบประมาณด้านววน. ของประเทศ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท เพื่อจัดสรรงบประมาณสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวนร้อยละ 60-65 ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ ตามแผนด้าน ววน. แก่หน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 แห่ง และ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) จำนวนร้อยละ 35-40 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานตามพันธกิจการพัฒนาประเทศ ทั้ง 188 หน่วยงาน ตามที่ สกสว. เสนอผ่านสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
นอกจากนี้ สกสว. ยังได้พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการสนับสนุน ววน. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดทำกลไกและมาตรการเพื่อพัฒนาระบบ ววน. กลไกและมาตรการสำคัญด้านการพัฒนาระบบ ววน. ที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาหลักการของมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรือตามอุปสงค์ของตลาด (Thailand Business Innovation Research, TBIR / Thailand Technology Transfer Research, TTTR) เพื่อเป็นกลไกการให้ทุนไปยังภาคเอกชนโดยอาศัยหลักการของการแข่งขัน (Competitive based) ส่งเสริมให้ได้โครงการที่มีคุณภาพและมีศักยภาพสูง ภายใต้โจทย์ความต้องการจากภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่มีตลาดขนาดใหญ่ ให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบสูงต่อประเทศ
ตลอดจนการผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญเพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งการต่อยอดการวิจัย และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศในภาพรวม และท้ายสุดแล้ว การจัดแผนและกรอบงบประมาณด้าน ววน. และการพัฒนากลไกในการดำเนินการต่างๆ จะช่วยชี้นำ และ ขับเคลื่อนให้ประเทศไทย ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา ทั้งในประเด็นการพัฒนาเชิงพื้นที่และการพัฒนาที่ตอบโจทย์สังคม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยื่น การพัฒนาคนและองค์ความรู้สู่อนาคต
อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จจากการดำเนินงานของ สกสว. ในปีที่ผ่านๆ มานั้น เกิดขึ้นจากการสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่งจากระดับนโยบาย อันได้แก่ สภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และคณะกรรมการอำนวยการ สกสว. และพลังความร่วมมือจากภาคีหน่วยงานในระบบ ววน. ร่วมขับเคลื่อน สนับสนุนส่งเสริม และขับเคลื่อนระบบ ววน. ให้เกิดการส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบจากงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป