ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ผนึกกำลังเครือข่ายความร่วมมือเสริมสร้างคุณธรรมทั่วประเทศ
วันที่ 16 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น. นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ภาคใต้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) และเกณฑ์การประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม โดยมีผู้แทนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมสยามออเรียนทรัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) เปิดเผยว่า กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ทำหน้าที่ส่งเสริมและบูรณาการให้องค์กรทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อให้คนไทยมีพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรมเพิ่มขึ้น มุ่งสู่สังคมคุณธรรมที่คนไทยอยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ ภายใต้หลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม และประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2570 มีตัวชี้วัดดัชนีคุณธรรม 5 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หน่วยงานภาครัฐน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารงาน มีค่า ITA เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ยในปัจจุบัน 87.57% นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดย่อยอีก 7 ตัวชี้วัด อาทิ การเพิ่มหน่วยงานภาครัฐที่มีค่า ITA ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ 85 คะแนน จากเดิม 5,855 แห่ง เป็น 6,441 แห่ง การเพิ่มชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมจากเดิม 39,102 แห่ง เป็น 43,012 แห่ง เป็นต้น
นายชัยพล สุขเอี่ยม กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นการเดินหน้าเข้าสู่แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) กรมการศาสนาจึงได้จัดประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ขึ้นในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจัดขึ้นที่ภาคใต้เป็นแห่งแรก ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมสยามออเรียนทรัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) และเกณฑ์การประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ตามแผนปฏิบัติการฉบับดังกล่าว
อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่ออีกว่า หากสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาตนเอง และสามารถพึ่งพาตนเองไปพร้อมกับการดำเนินชีวิต ด้วยหลักศาสนา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมได้ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อให้เป้าหมายในอนาคตอีก 5 ปีต่อจากนี้เห็นผลเป็นรูปธรรม ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันผลักดันให้ “คุณธรรม” เป็นคุณค่าหลักนำการพัฒนา ร่วมกันส่งเสริมความดีให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ เพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีงามแก่คนไทยทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็น “วิถีคุณธรรม” ที่แสดงออกมาผ่านทางพฤติกรรม อันจะเป็นทุนทางสังคมที่สร้างความเข้มแข็ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพลิกโฉมประเทศ ก้าวไปสู่สังคมคุณธรรมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้ประเทศไทยมีความสงบสุข สมานฉันท์ และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น