กรุงเทพฯ 15 มีนาคม 2566 – กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) สมาคมผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ทดแทนไทย (TAPAA) สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCON) และ สมาคมผู้ค้าอะไหล่วรจักร (WASA) แถลงข่าวประกาศความพร้อมการจัดงาน TAPA 2023 หรือ งานแสดงสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง ภายใต้แนวคิด “Sustainable for The Future” กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 5 - 8 เมษายน 2566 นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
ภายในงานแถลงข่าวได้รับเกียรติจาก นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA), นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon), นายณัฐกิตติ์ บุญวรเศรษฐ์ เลขานุการสมาคมผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ทดแทนไทย (TAPAA) และ นายสมโภชน์ ชินะกานนท์ นายกสมาคมการค้าอะไหล่รถยนต์วรจักร (WASA) ร่วมเสวนาในหัวข้อ TAPA 2023 Change to sustainable green พร้อมนำชม นิทรรศการขนาดย่อม ที่นำสินค้าที่น่าสนใจบางส่วนจากงานจริงมาจัดแสดงในงานแถลงข่าว ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า “อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศกว่า 550,000 คน ในแต่ละปีไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์มูลค่าเฉลี่ย 14,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หรือประมาณ 480,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.5 หรือเป็นอันดับ 4 ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศไทย ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ถึง 15,649 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 542,361 ล้านบาท ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย”
ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อผลักดันและขยายการส่งออกสินค้าและบริการของไทยเข้าสู่ตลาดที่มีศักยภาพ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง ในหลายรูปแบบ ซึ่งงาน TAPA หรืองานแสดงสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง เป็นงานแสดงสินค้าสำคัญของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จัดต่อเนื่องมากว่า 2 ทศวรรษ เป็นงานที่รวบรวมสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง จากผู้ประกอบการไทยและต่างชาติมาร่วมจัดแสดงอย่างครบวงจร จนได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลกหรือ World Auto Parts Sourcing Hub ปีนี้กลับมาจัดอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด Sustainable for the Future แสดงทิศทางของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ของไทย ที่จะพัฒนาและเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นความยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่ งาน TAPA จึงเป็นงานสำคัญที่คนในวงการจะได้พบปะเจรจาการค้า สร้างเครือข่ายธุรกิจ ได้อัปเดตเทรนด์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ โดยปีนี้มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าถึง 455 บริษัท 787 คูหาจากหลากหลายประเทศทั่วเอเชีย ภายในพื้นที่จัดงานกว่า 15,000 ตารางเมตร นับเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของประเทศ ที่จะแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมของไทยในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ระดับโลก
“นอกจากจะได้พบกับสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์อย่างครบวงจรแล้ว ผู้เข้าชมงานยังจะได้พบกับกิจกรรมต่างๆ อีกมายมาย อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการภาพลักษณ์อุตสาหกรรมฯ การจัดเสวนาและสัมมนาในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น อะไหล่ยนต์ไทยก้าวไกลสู่ตลาดโลก นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน แนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคต การจัดแสดงสินค้าไฮไลท์ (Product Showcase) ทั้งนวัตกรรมสำหรับยานยนต์ สินค้าเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน ชิ้นส่วนยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรมยางพารา และสินค้า BCG สำหรับผู้สนใจที่ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมชมงานได้ ก็สามารถเข้าชมงานแสดงสินค้าเสมือนจริง หรือ Virtual Trade Show (VTS) โดยจะเปิดระบบให้เข้าชมและเจรจาการค้าแบบ Real Time พร้อมสามารถนัดหมายเจรจาการค้าล่วงหน้าผ่านระบบ VTS นี้ได้ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2566 และหลังจากนั้นระบบจะเปิดเป็นลักษณะ Showroom สินค้าของผู้เข้าร่วมงาน TAPA เพื่อที่ผู้สนใจจะสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ทุกเวลาตลอด 365 วัน” นายภูสิตกล่าว
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) กล่าวว่า “อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในมุมมองของระดับโลกนั้น มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับมาก สามารถแข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ มีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งยาวนานมากว่า 50 ปี สามารถผลิตชิ้นส่วนได้สำหรับรถยนต์ทุกชิ้นส่วน ซึ่งจะเห็นได้จากยอดการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ในทุกๆ ปีที่ผ่านมา ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น และทำตลาดไปทั่วโลก แม้จะมีสถานการณ์โควิดเข้ามา แต่การส่งออกก็ยังทำได้ดี รวมถึงการที่ผู้ผลิตจากนานาประเทศให้ความสนใจในงาน TAPA 2023 นี้เป็นอย่างมาก ซึ่งสมาคมฯ มีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมมาโดยตลอด และมีการเตรียมตัวสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์บริบททั่วโลก และยังรักษาการเป็นศูนย์รวมการส่งออกสำคัญไว้ได้ ซึ่งจากคอนเซ็ปต์ Sustainable for the Future ของงาน TAPA ในครั้งนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ไทยมีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน จึงไม่อยากให้พลาดงานสำคัญในครั้งนี้”
นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) กล่าวว่า “สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย มีสมาชิกมากกว่า 400 บริษัท และแบ่งสมาชิกตามประเภทอุตสาหกรรมที่ผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์สนับสนุนการผลิตออกเป็น 16 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยทางสมาคมต้องการที่จะพัฒนาผู้รับช่วงการผลิตในประเทศ ให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมทั้งพัฒนาขีดความสามารถของสมาชิกในเครือข่าย ให้มีความสามารถในการเชื่อมโยงธุรกิจ พร้อมยกระดับศักยภาพในด้านต่าง ๆ ทั้งการผลิต การจัดการ การตลาด การจัดซื้อ และข้อมูลข่าวสารในระดับมาตรฐานสากล การมางาน TAPA 2023 ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดนัดพบครั้งสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการ เพื่อโอกาสในการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมเรามีความพร้อมอย่างยิ่งในการเข้าร่วมงานในครั้งนี้”
นายณัฐกิตติ์ บุญวรเศรษฐ์ เลขานุการสมาคมผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ทดแทนไทย (TAPAA) กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญในการผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น โดยเฉพาะรถกระบะและรถ MPV ซึ่งนอกจากจะมี ความต้องการซื้อในประเทศสูงแล้ว ยังมีการส่งออกไปต่างประเทศสูงเช่นกัน สำหรับโจทย์เรื่องความยั่งยืน ทางสมาชิกสมาคมฯมีการตื่นตัวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะสมาชิกที่ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE : internal combustion engine) หากในอนาคตรถยนต์จะกลายเป็นรถ EV มากขึ้น ผู้ผลิตก็พร้อมในการปรับตัว นอกจากนั้น ยังมีชิ้นส่วนอีกมากมายที่จำเป็นต้องอยู่ในทั้ง EV และเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งหากเรายังคงรักษามาตรฐานสินค้า Made in Thailand ให้สามารถแข่งขันเช่นเดิมได้ ศักยภาพของผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ไทยก็สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐในการส่งออกสู่ตลาดโลก เช่น การไปออกงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ และประสบความสำเร็จในการโปรโมทชิ้นส่วนยานยนต์ Made in Thailand รวมถึง การเข้าร่วมงาน TAPA ในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา รวมถึงในปี 2023 นี้ด้วย”
นายสมโภชน์ ชินะกานนท์ นายกสมาคมผู้ค้าอะไหล่วรจักร (WASA) กล่าวว่า “ทางสมาคมวรจักรมีเครือข่ายขนาดใหญ่ที่รวมผู้ประกอบการค้ารายย่อยจำนวนมากกว่าหนึ่งพันร้านค้า ที่กระจายตัวอยู่โดยรอบย่านการค้าอะไหล่ถนน
วรจักร บรรดาสมาชิกของสมาคมฯ ก็พร้อมที่จะนำเสนออะไหล่คุณภาพสูง และได้มาตรฐานสากล เพื่อนำเสนอแก่ผู้เข้าร่วมงาน TAPA 2023 ในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันชิ้นส่วนยานยนต์ไทยให้ไปสู่ตลาดโลก โดยทางวรจักรได้เตรียมสินค้าที่มีความหลากหลาย ขนสินค้าทั้งย่านวรจักรมาให้ผู้เข้าร่วมชมงานได้เลือกชมสินค้าที่รับรองว่าจะได้สินค้าในราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่าอย่างแน่นอน”
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวปิดท้ายว่า “กรมและทั้ง 4 สมาคม มีความตั้งใจอย่างยิ่ง ในการร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ ส่วนประกอบ และอุปกรณ์ตกแต่ง ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และหวังว่างาน TAPA 2023 ในครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ได้พบปะ จับคู่เจรจาการค้า สร้างโอกาสในการต่อยอดการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นพื้นที่ให้ได้มาอัปเดตเทรนด์ ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ที่สำคัญคือ เป็นการแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก”
งานแสดงสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง (Thailand International Auto Parts & Accessories Show: TAPA 2023) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 8 มีนาคม 2566 วันเจรจาธุรกิจ : 5-7 เมษายน 2566 เวลา 10:00 – 18.00 น. วันจำหน่ายปลีก : 8 เมษายน 2566 เวลา 10.00 – 16.00 น. ณ EH102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ทาง https://bit.ly/TAPA2023Preregistation
ข้อมูลเพิ่มเติม www.thailandautopartsfair.com และ https://www.facebook.com/tapafair/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น