ซึ่งเป็นผลดีกับเกษตรกรในด้านการได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและรายได้ของเกษตรกรที่สูงขึ้น ยกระดับและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเกษตรกรชาวจังหวัดฉะเชิงเทราส่วนใหญ่นั้นหันมาประกอบอาชีพปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากมีสภาพดินและน้ำเป็นดินตะกอนที่มีความเค็มเล็กน้อยและเป็นน้ำกร่อย ข้อได้เปรียบเช่นนี้ ทำให้ผลผลิตมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรามีรสชาติหวาน เนื้อนุ่ม และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ จึงทำให้จังหวัดฉะเชิงเทรามีการปลูกมะม่วงอยู่ในอันดับต้นของประเทศไทย ที่ผ่านมาจากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานระหว่าง สจล. และมูลนิธิฯ ได้เข้ามามีส่วนช่วยเกษตรกรชาวสวนมะม่วง อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ในการพัฒนาคุณภาพการปลูกมะม่วง และรับซื้อมะม่วงเพื่อนำมาทำโมเดลต้นแบบสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอนาคตอาจจะแนวโน้มในการต่อยอดขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรระดับแนวหน้าของโลก โดย “ผลไม้ไทย” ถือเป็นสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีภารกิจหลักในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และผลักดันให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงเชิงพาณิชย์ โครงการวิจัยเรื่อง “การจัดการระบบโซ่ความเย็นและการกระจายอุณหภูมิในระบบโลจิสติกส์เพื่อสร้างมาตรฐานรับรองการขนส่งผลิตผลเกษตรพรีเมียมทางอากาศ” โดย ผศ. ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และทีมวิจัย จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ถือเป็นโครงการเด่นที่ได้รับการจัดสรรทุนวิจัยจาก บพข. โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งของระบบและมาตรฐานโซ่ความเย็น (cold chain) ร่วมกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เสาหลักด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย และความร่วมมือด้านวิจัยกับ French National Research Institute for Agriculture, Food and Environment (INRAE)
บพข. ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จก้าวแรกของทีมวิจัยจาก สจล. ที่จะได้ทดสอบการขนส่งจริงทางอากาศของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ด้วยระบบการจัดการโซ่ความเย็นที่พัฒนาขึ้นจากโครงการวิจัยนี้ จากสวนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังประเทศฝรั่งเศส ผ่านทาง “Perishable Premium Lane (PPL)” ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอร์เรเตอร์ จำกัด (AOTTO) ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน เพิ่มมูลค่า สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของไทย ผลงานวิจัยนี้จะเป็นต้นแบบระบบโซ่ความเย็นมาตรฐานการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของระบบโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เฉกเช่นเส้นทางการทูตในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามรองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า Factory classroom คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างผลไม้ไทยให้เป็น soft power จึงทำการวิจัยเพื่อส่งผลไม้สดคุณภาพดีไปยังต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา (CDF) และความร่วมมือจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอร์เรเตอร์ จำกัด (AOTTO) และ French National Research Institute for Agriculture, Food and Environment (INRAE) ประเทศฝรั่งเศส งานวิจัยดังกล่าวได้ใช้มะม่วงที่เป็นหนึ่งในผลไม้สยาม (SIAMESE FRUITS) ตามรอยเส้นทางความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ ทางสถาบันจึงได้ทำการทดสอบการขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากจังหวัดฉะเชิงเทราไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ผู้อุทิศที่ดินสร้าง สจล. และเป็นราชทูตพิเศษของสยามไปฝรั่งเศสถึงสองครั้ง นอกจากนี้ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะนำไปจัดแสดงที่งานแสดงนวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงเดือนเมษายนนี้ นับเป็นโอกาสที่ทาง สจล. จะได้แสดงศักยภาพทางด้านผลงานวิจัย ตามนโยบายของ สจล. ที่มุ่งเน้นนำนวัตกรรมผลงานวิจัยสู่ระดับสากล Global Engineering พร้อมมุ่งสู่การเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรม The Master of Innovation
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ หัวหน้าโครงการ "การจัดการระบบโซ่ความเย็นและการกระจายอุณหภูมิในระบบโลจิสติกส์เพื่อสร้างมาตรฐานรับรองการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรพรีเมียมทางอากาศ" กล่าวถึง งานวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและฝรั่งเศส ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หนึ่งในคณะทูตคือเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (วร บุนนาค) หรือเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ผู้อุทิศที่ดินในการสร้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเป็นราชทูตพิเศษของสยามไปฝรั่งเศสถึงสองครั้ง ในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม
สำหรับจุดประสงค์ในด้านการวิจัยนี้ เพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดการระบบโซ่ความเย็นสำหรับผลิตผลเกษตรเน่าเสียง่ายทางอากาศ ที่ต้องควบคุมตลอดเส้นทางการขนส่งโดยใช้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งจะทดสอบการขนส่งจากประเทศไทยไปยังประเทศฝรั่งเศสเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์คือสภาวะอุณหภูมิอากาศและอุณหภูมิของผลผลิตในการขนส่งในปัจจุบัน แล้วจึงนำผลมาทดลองร่วมกับระบบห้องจำลองสภาวะอากาศ บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ขนส่ง ขนถ่าย โดยใช้ตัวอย่างผลไม้ ในการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อทราบการกระจายอุณหภูมิและวิเคราะห์ตำแหน่งวิกฤต พร้อมหาแนวทางแก้ไขเพราะการทดลองภาคสนามทำได้จำกัดเนื่องจากมาตรการด้านความปลอดภัยทางอากาศ จากนั้นจึงทำการทดสอบยืนยันความถูกต้องในภาคสนามอีกครั้งเพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดี (Guideline) สู่การสร้างมาตรฐานรับรองการขนส่งผลิตผลเกษตรพรีเมียมทางอากาศ ผลงานวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ มากมาย อาทิ การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
และความร่วมมือในการขนส่งผ่าน Premium lane ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอร์เรเตอร์ จำกัด และการตรวจวิเคราะห์คุณภาพที่ French National Research Institute for Agriculture, Food and Environment (INRAE) ประเทศฝรั่งเศส และนับอีกหนึ่งโอกาสสำหรับผลงานวิจัยนี้ที่ได้รับคัดเลือกให้นำไปจัดแสดงในงาน Franco – Thai Innovation and Startup Week 2023 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ระหว่างวันที่ 20 เมษายน ถึง 4 พฤษภาคม 2566 นี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น