สรพ.ลงพื้นที่ ร.พ.หาดใหญ่ โรงพยาบาลคุณภาพ HA ที่ได้รับรางวัลการพัฒนานวัตกรรมความปลอดภัยของผู้ป่วย 2P Safety Tech

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. นำคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน 2566 เพื่อเยี่ยมชมความก้าวหน้าในการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล และเยี่ยมผลงานการพัฒนานวัตกรรม 2P Safety Tech ที่ได้รับรางวัลประจำปี 2565 จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม “ICU without walls” และ “การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลหาดใหญ่ด้วย Digital Transformation”

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ

ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่าการลงพื้นที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ครั้งนี้ ได้นำคณะสื่อมวลชนร่วมศึกษา เรียนรู้เกี่ยวกับคุณภาพโรงพยาบาลมาตรฐาน HA และเยี่ยมชมโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 2P Safety Tech ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สรพ. และสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยจับคู่นวัตกร Start Up ของ สวทช. ร่วมกับโรงพยาบาลที่สมัครร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่สามารถป้องกันอุบัติการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล พัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของโรงพยาบาลที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาลและสามารถใช้ได้จริง เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ โรงพยาบาล 2P Safety Hospital พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขใน 12 ด้านตามเป้าหมายความปลอดภัย Patient and Personnel Safety Goal (SIMPLE)2 ภายใต้แนวคิด Human Factor Engineering สำหรับป้องกันความเสี่ยงที่ป้องกันได้ ซึ่งโรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนากลไกเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม (2P Safety Hospital) และได้รับรางวัลในระดับชนะเลิศ จากการประกวดผลงานการพัฒนาพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety Tech) ประจำปี 2565 จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม “ICU without walls” ที่พัฒนาระบบบริหารจัดการเตียงในห้อง ICU อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจองคิวสะดวกรวดเร็วช่วยผู้ป่วยหนักได้ประโยชน์จากเตียง ICU อย่างเต็มที่ และ “การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลหาดใหญ่ด้วย Digital Transformation” ที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับคนไข้ ถือเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในการใช้เทคโนโลยีเพื่อ Lean ระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาความล่าช้าของระบบขนส่งผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วย

ด้านนายแพทย์ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลหาดใหญ่ได้รับการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน HA ครั้งแรกในปี พ.ศ 2545 โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้รับการรับรอง Re-accreditation ครั้งที่ 6 และยังได้การรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ การรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ในปี พ.ศ. 2562 ด้วย ซึ่งโรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนากลไกเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม หรือ 2P Safety Hospital ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และเข้าร่วมโครงการนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety Tech) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563

ด้าน พญ.ชุติมา จิระนคร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลหาดใหญ่ ผู้รับผิดชอบโครงการ ICU without walls กล่าวว่า pain point ที่ว่าเตียงในห้อง ICU เต็มอยู่เสมอ และถ้าเมื่อไหร่ที่แพทย์อยากได้เตียง ใครขอก่อนคนนั้นได้ก่อน คนไข้ที่อาการรุนแรงอาจไม่ได้เตียงเพราะขอทีหลัง นอกจากนี้ การขอเตียงมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งข้อมูลรายละเอียดการขอเตียงไม่เคยถูกแสดงให้เห็น ผู้บริหารจึงประเมินความต้องการใช้เตียงได้ยาก จึงมีการพัฒนาระบบที่ช่วยให้การขอเตียงไม่ซับซ้อน คำนึงถึงโอกาสการรอดชีวิต และมีความสะดวกรวดเร็ว ติดตามผลได้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ ซอฟต์แวร์จองเตียง ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบ ThaiRefer และระบบ Rapid response alert ผู้ที่ต้องการจองเตียงสามารถกรอกข้อมูลแล้วส่งคำขอเข้ามาในระบบ ส่วนที่ 2 คือฐานข้อมูลผู้ป่วยที่อยู่ในห้อง ICU ทั้งหมด แสดงความหนักเบาของอาการป่วยในแต่ละเตียง และในกรณีที่จำเป็นต้องสลับเตียงเพื่อให้เตียงว่างรองรับผู้ป่วยรายใหม่ จะใช้หลักการเลือกคนที่มีโอกาสเสียชีวิตน้อยที่สุดออก และทีมงานทุกคน ตั้งแต่คนขอเตียง แอดมิน คนจ่ายเตียง และพยาบาล จะได้ข้อมูลไปพร้อมกันทั้งหมดเพื่อลดปัญหาการโต้แย้งกัน

ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ นาขวัญ หัวหน้าศูนย์ HYs-MEST โรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า pain points ของงานโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลหาดใหญ่นั้น มีตั้งแต่เรื่องโปรแกรมต่างๆที่ใช้อยู่นั้นล้าสมัย ระบบโปรแกรมเคลื่อนย้ายทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งภายใน ขนส่งภายนอก ยังติดปัญหาค่อนข้างเยอะ ไม่มีระบบติดตามงาน ไม่มีระบบงานที่ชัดเจน ขาดทีมบริหาร ขาดการบริหารจัดการงานควบคุมครุภัณฑ์ และเหนือสิ่งอื่นใดคืองานคลินิกยังมีปัญหา ผู้ป่วยรอเตียงนาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการทำ Digital Transformation เพื่อพัฒนาระบบงาน ซึ่งประกอบด้วย 1 Strategy กับ 4 Solution ในส่วนของ Strategy คือการมี SMART High Connect เพื่อตอบโจทย์ 4 Solution ประกอบด้วย 1. SMART HY-Log App 2. SMART HY-Display 3. SMART HY-EVALUATION และ 4. SMART HY-Stock ผลที่ได้คือ 2P safety ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาจ่ายงาน ระยะเวลาร้องขอจากคนไข้ไปถึงเจ้าหน้าที่เปลรับงาน sequence งานมีความต่อเนื่อง ระยะเวลารอคอยการเคลื่อนย้ายลดลงเหลือ 3-5 นาที ตามระดับความฉุกเฉินด้วย.


Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts

ค้นหาบล็อกนี้

Contact Us ::

📲 (+66) 081 4345154
✉️ Insightoutstory@gmail.com

Add Line📲 Click 👇👇

Translate

🚉 ช.ส.ท.พาเที่ยว นครฯ

Review By Nichapa

POPULAR NEWS

Fanpage Facebook

ป้ายกำกับ

คลังบทความของบล็อก