มิวเซียมสยาม จับมือ เทศบาลนครภูเก็ต เปิดนิทรรศการ Discover Peranakan Phuket ส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้เมืองภูเก็ต

มิวเซียมสยาม และ เทศบาลนครภูเก็ต ขอเป็นส่วนหนึ่งร่วมผนึกกำลัง ส่งเสริมและสร้างสรรค์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงแหล่งเรียนรู้ เปิดนิทรรศการ Discover เพอรานากันภูเก็ต นิทรรศการที่จะชวนไปทำความรู้จักเรื่องราวประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชาวเพอรานากัน เพื่อสร้างโรดแมปเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั่วโลก โดยมี นางสาวอรไพลิน ตระกูลปริพนธ์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และ นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ร่วมเป็นประธานแถลงข่าวเปิดงาน

ทั้งนี้ เมืองภูเก็ตรุ่งเรื่องด้วยเศรษฐกิจเหมืองแร่ดีบุกมานานหลายศตวรรษ ดีบุกได้นำพาผู้คนและวัฒนธรรมอันหลากหลายมาสู่เมือง กำเนิดกลุ่มคนลูกผสมเป็นที่รู้จักในชื่อ เพอรานากัน หรือ บาบ๋า และสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ ที่มีความโดดเด่นในแบบฉบับของตัวเอง เมื่อภูเก็ตเข้าสู่ยุคของการท่องเที่ยว วัฒนธรรมเพอรานากันได้รับความสนใจ อีกครั้ง นิทรรศการ Discover Peranakan Phuket ชวนทุกท่านไปค้นหาเรื่องราวของชาวเพอรานากัน ผ่านสิ่งของ และร่องรอยทางวัฒนธรรมที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ผ่าน 4 โซน เกิดที่นี่ จุดกำเนิดของชาวเพอรานากันเริ่มต้นขึ้นที่นี่ ในดินแดนคาบสมุทรมลายู ผู้คนจากทั่วสารทิศทั้งจีน แขก ฝรั่ง ล่องเรือมายังดินแดนแห่งนี้ 
บางส่วนลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวกับคนท้องถิ่นเกิดการผสมผสานทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม กลายมาเป็นชาวเพอรานากัน วิถีบาบ๋า ค้นหาเรื่องราววิถีชีวิตและความเชื่อที่ซ่อนอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของตัวบ้าน ร้อยเรื่องบาบ๋า ชาวเพอรานากันคือใคร? จีน มลายู ไทย ใครกันแน่? เราสามารถค้นหาเบาะแสได้จากสิ่งของเครื่องใช้รอบตัวและเรื่องราวทางวัฒนธรรมของชาวเพอรานากัน เพอรานากันนิยม เปิดประสบการณ์สัมผัสความเป็นเพอรานากันผ่านการค้นหาชุดที่ชอบและวิธีสวมใส่ที่ใช่พร้อมแชะภาพกลับไปเป็นที่ระลึก

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวถึงการนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่การต่อยอดและสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจ “กลุ่มวัฒนธรรมเพอรานากัน กระจายตัวอยู่ในเมืองท่าสำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ มะละกา ปีนัง เมียนมาร์ ตลอดจนภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์กลุ่มชาวจีนอพยพมาภูเก็ต เป็นแรงงานเหมืองแร่ดีบุก เป็นพ่อค้า นายเหมือง เป็นช่างตีเหล็ก ช่างต่อเรือ ประกอบอาชีพที่ถนัดแล้วตั้งถิ่นฐานแต่งงานสร้างครอบครัวกับคนท้องถิ่นให้กำเนิดลูกครึ่งจีน-ท้องถิ่น และเรียกลูกครึ่งทั้งชาย-หญิงว่า “บาบ๋า” ซึ่งมีพื้นฐานวัฒนธรรมจากจีนฮกเกี้ยนผสมวัฒนธรรมไทยถิ่นใต้ และมีความสัมพันธ์กับชาวเพอรานากันในดินแดนคาบสมุทรมลายู ผ่านวัฒนธรรมการกิน การใช้ และการอยู่อาศัยที่เชื่อมโยงกัน 
โดยทางสถาบันฯ และเทศบาลนครภูเก็ต ได้จัดทำนิทรรศการ Discover Peranakan Phuket
นำเสนอความหลายหลายของวัฒนธรรมเพอรานากันให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าใจเมืองภูเก็ตมากกว่าที่เห็น และจากการที่ประเทศไทยร่วมกับ 4 ประเทศอาเซียน (มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) เสนอชุดเคบายา (Kebaya) ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก (UNESCO) นั้น นอกจากคุณค่าความสวยงามแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมระหว่างผู้เข้ามาและคนในท้องถิ่นดั้งเดิม อันแสดงถึงการอยู่ร่วมกันในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคนี้ ซึ่งความเข้มแข็งของวัฒนธรรมร่วม จะนำไปสู่การต่อยอดและสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน” นายราเมศกล่าว

ด้านนางสาวอรไพลิน ตระกูลปริพนธ์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต “เทศบาลนครภูเก็ตมีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว ให้เมืองภูเก็ตเป็นที่น่าค้นหา Discover Phuket ด้วยพื้นที่ในเขตเทศบาลมีต้นทุนด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่หลากหลาย เพอรานากัน หรือที่ภูเก็ตนิยมเรียกว่า บาบ๋า มีพื้นวัฒนธรรมมาจากชาวจีนฮกเกี้ยนผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยถิ่นใต้ และเป็นส่วนหนึ่งของ วัฒนธรรมเพอรานากัน ในภูมิภาคอาเซียน 
มีจุดเด่นคือการผสมผสานทางวัฒนธรรมอันหลากหลายจนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่มีความเฉพาะตัว
ซึ่งแสดงออกผ่าน ภาษา อาหาร ประเพณี สิ่งของเครื่องใช้และวิถีชีวิต ที่น่าค้นหาผ่านชุดนิทรรศการ นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเหล่านี้ยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเมืองและในอนาคตวัฒนธรรมบาบ๋า เพอรานากันจะกลายเป็น Soft Power อย่างหนึ่งของไทย ยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ร่วมมือด้านวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย เทศบาลนครภูเก็ต ตระหนักและเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ณ นครภูเก็ตแห่งนี้ และพร้อมที่จะต่อยอดผ่านงานเทศกาล กิจกรรม เพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่ประชาชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน ผลักดันให้เมืองภูเก็ตเป็นหมุดหมายอันดับต้นของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง” นางสาวอรไพลิน กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ มิวเซียมภูเก็ต เปิดโอกาสให้ประชาชนชาวภูเก็ตและผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ มิวเซียมภูเก็ต โดยเปิดให้บริการวันอังคาร - วันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 09.00 16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 094-807-7873

Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts

ค้นหาบล็อกนี้

Contact Us ::

📲 (+66) 081 4345154
✉️ Insightoutstory@gmail.com

Add Line📲 Click 👇👇

Translate

🚉 ช.ส.ท.พาเที่ยว นครฯ

Review By Nichapa

POPULAR NEWS

Fanpage Facebook

ป้ายกำกับ

คลังบทความของบล็อก