ซัน-ไกรลาส สกุลดิษฐ์ ศิลปินกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีความต้องการพิเศษคนแรกของไทยที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นหนึ่งในทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2566 ของ sacit ด้วยผลงานการสร้างสรรค์ผ้าทอมือด้วยกี่ 2 ตะกอ เน้นสีสันลวดลายแบบร่วมสมัย และเป็นผลงานที่มีชิ้นเดียวบนโลกเท่านั้น
คุณแม่เกด-เกษณี สกุลดิษฐ์ ผู้เป็นเบื้องหลังผลักดันความสำเร็จ ให้สัมภาษณ์ว่า ภาคภูมิใจอย่างมากที่น้องซันได้รับการเชิดชูเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรมในปีนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่ตอกย้ำว่าจากจุดเริ่มต้นเป็นเพียงงานอดิเรกที่ลูกชอบ ตอนนี้เริ่มเห็นหนทางที่จะกลายเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้“ไม่คาดคิดเลยว่าลูกจะได้รับเกียรตินี้ ภูมิใจมากที่ผลงานของน้องซันเป็นที่ยอมรับจากคนในวงการช่างหัตถศิลป์ น้องซันเริ่มเรียนรู้เรื่องการทอผ้าด้วยกี่ 2 ตะกอ มาตั้งแต่ช่วง ป.5 จนปัจจุบันอายุ 27 ปี การได้รับโอกาสนี้ถือเป็นการยืนยันว่าน้องซันมาถูกทางที่หันมาให้ความสนใจและเรียนรู้งานทอผ้ามาอย่างจริงจัง”สำหรับระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาของ SunFun Weaving หรือ บ้านซันทอสนุก สตูดิโอของช่างอารมณ์ดีที่สร้างสรรค์ผ้าทอมือด้วยกี่ 2 ตะกอ ผลิตผลงานที่มีชิ้นเดียวบนโลก มีช่างฝีมือ 2 คน คือ ลูกและแม่ เรียนรู้งานทอรูปแบบต่างๆ จนปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายประเภท ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อผ้า และกระเป๋า ซึ่งเป็นทั้งหมดเป็นงาน Hand-Made และ Made to order เป็นหลัก โดยเริ่มแรกอุดหนุนกันแบบคนวงใน เพื่อนแม่-เพื่อนลูก แต่ช่วงหลังมีโอกาสออกสื่อมากขึ้น ทำให้กลุ่มลูกค้ามีความหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทยที่ชื่นชอบงานทอสีสันประเภทนี้ หลังจากนี้คงเป็นการต่อยอดงานที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยมากขึ้น เพราะเดิมทีทำเฉพาะงานสีสันร่วมสมัย โดยจะเริ่มศึกษางานทอด้วยเส้นไหม เส้นด้ายของท้องถิ่นไทย รวมถึงงานของรีไซเคิลประเภทของใช้ต่างๆ ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น “สำหรับการออกบูธงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา กับ sacit ถือเป็นการออกบูธที่เกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมไทยระดับประเทศครั้งแรกของน้องซัน คิดว่าการได้รับโอกาสจาก sacit ช่วยสร้างความชัดเจนว่าเส้นทางนี้จะสามารถสร้างการเรียนรู้และสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับน้องซันได้”
เส้นทางของน้องซัน-ไกรลาส สกุลดิษฐ์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม คงไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ พร้อมที่จะเดินหน้าส่งมอบโอกาสและแรงบันดาลใจด้านงานทอผ้าสู่กลุ่มเด็กในโรงเรียนต่างๆ และผู้ที่สนใจเรื่องการทอผ้า ซึ่งจะทำให้งานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น