นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับองค์การทางศาสนา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัด “พิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม
เพื่อรวมพลังทางศาสนาเสริมสร้างความสมานฉันท์ ร่วมกันบำเพ็ญความดีถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ โดยมีผู้นำองค์การศาสนาทั้ง 5 ศาสนา องค์กรภาคีเครือข่าย ตลอดจนศาสนิกชนทุกศาสนา ร่วมประกอบพิธี โดยศาสนาพุทธ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ศาสนาอิสลาม ประกอบพิธีดุอาอ์ขอพร ศาสนาคริสต์ ประกอบพิธีอธิษฐานภาวนาขอพร ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประกอบพิธีสวดมนต์หรือท่องพระเวท และศาสนาซิกข์ ประกอบพิธีสวดกีรตันและอัรดาส พร้อมชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งนำเสนอพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในด้านพระศาสนา เพื่อให้ประชาชนได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ในการนี้ กรมการศาสนายังได้อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นมงคล 5 ศาสนา ที่ทรงคุณค่าและเป็นที่เคารพศรัทธา มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชา และนำศาสนวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนามาจัดแสดงในนิทรรศการฯ อีกด้วย
จากนั้น เวลา 18.30 น. วันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมศาสนิกสัมพันธ์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคม 2566 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิก โดยใช้มิติทางศาสนา วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม เป็นสิ่งเชื่อมโยงจิตใจของประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสันติสุข ต่อจากนั้น รมว.วธ. ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “มหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี” ซึ่งจัดแสดงในรูปแบบสวนแสงแห่งศรัทธา ประดับดวงไฟที่งดงามนับหมื่นดวง นำเสนอสัญลักษณ์ 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วย พระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา ทัชมาฮาลเมืองไทย สวนแห่งความรักและให้อภัย องค์เทพไท้ประทานพร สุวรรณวิหารอนุสรณ์ เชื่อมร้อยใจ ที่เคารพนับถือและศาสนสถานที่สำคัญของแต่ละศาสนา นอกจากนี้ ภายในการจัดงานครั้งนี้ยังจะได้รับชมการแสดงทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของแต่ละศาสนา เช่น การเต้นรำสไตล์อินเดีย ลำตัด รำอวยพร การขับร้องเพลงสรรเสริญเทพเจ้า เพลงอนาซีด ดิเกร์ฮูลู และการขับร้องประสานเสียง เป็นต้น ทั้งยังได้ลิ้มรสอาหารอร่อย เช่น ซาโมซา ปานีปูรี ปาปรี จาดร์ เจเลบี พัฟสติ๊ก โรตี มะตะบะ ชาชัก เนื้อสะเต๊ะโบราณ ขนมอาซูรอ ขนมจีนโบราณ และติ่มซำ เป็นต้น เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชนศาสนิกสัมพันธ์ เครือข่ายศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หน่วยเผยแพร่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา เครือข่ายพระธรรมวิทยากร และชุมชนคุณธรรม กว่า 100 ร้าน ซึ่งจะเป็นการเปิดพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าและบริการ อันเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการนำ Soft Power ในมิติศาสนา สร้างโอกาส สร้างงาน และสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจของชุมชนอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น