ททท. จัดงานแถลงข่าวเชิญชวน นักท่องเที่ยว เที่ยวงานประเพณีชักพระทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาว ประจำปี 2566 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมื่อถึงวันออกพรรษาของทุกปี จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะมีงานบุญที่สำคัญและยิ่งใหญ่ เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ คือ งานประเพณีชักพระทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาว ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นซึ่งได้อนุรักษ์ สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษนับร้อยปี จนนับได้ว่าเป็นมรดกแห่งศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของจังหวัด โดยมีที่มาตามเรื่องราวใน เทโวโรหณสูตร กล่าวไว้ว่า ประเพณีแห่พระหรือชักพระสืบเนื่องมาแต่ครั้งสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ครั้นถึงวันออกพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ครั้งถึงวันออกพรรษาจึงทรงเสด็จลงมาจากดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ งานเทศกาลประเพณีชักพระทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จะมีกิจกรรมที่โดดเด่นอยู่ทั้งสิ้น 3 กิจกรรม

พุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 (ปีเถาะ) อาคารบ้านเรือนและร้านค้าจะจัดพุ่มผ้าป่าตกแต่งประดับประดาเป็นเรื่องราวพุทธชาดกเกี่ยวกับนรกสวรรค์ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ผ้า 1 ผืน สำหรับพระภิกษุ สำหรับพระภิกษุชักเป็นผ้าบังสุกุล ซึ่งต่างและโดดเด่นจากท้องถิ่นอื่น โดยพระสงฆ์จะทำการชักพุ่มเมืองซึ่งเป็นต้นโพธิ์ทองขนาดใหญ่ สวยงามอันเป็นสัญลักษณ์ของการจัดตั้งพุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน 

ชักพระทางบก หรือลากพระในวันออกพรรษา ในเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 มีการแห่เรือพนมพระทางบกที่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันประดับตกแต่งด้วยความสวยงาม โดยมีเรือพนมพระกว่า 100 ลำ เข้าร่วมงานขบวนแห่ พร้อมนางรำและนางลากสำหรับวัดที่อยู่ริมแม่น้ำจะชักพระทางน้ำ ล่องมาตามลำน้ำตาปี เพื่อให้ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำตาปีได้ร่วมชมความงดงามและทำบุญตามกำลังศรัทธา

การแข่งขันเรือยาว ในงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาว สร้างสีสันบรรยากาศความสนุกสนานในลำน้ำตาปี ซึ่งเป็นจุดกำเนิดเรือยาวที่มีชื่อเสียง ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คือเรือเจ้าแม่ตาปี และเรือเจ้าแม่ธารทิพย์ 

ในปีนี้ งานประเพณีชักพระทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จัดขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2566

ตลอดระยะเวลาการจัดงานมีกิจกรรมในวันต่างๆดังนี้

  • 26 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2566 : นิทรรศการงานประเพณีชักพระฯ บริเวณหน้าวัดกลางเก่า 
  • 28 ตุลาคม 2566 : ประกวดพุ่มผ้าป่า ทั่วเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
  • 29 ตุลาคม 2566 : การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี / พิธีฉลองถ้วยพระราชทานฯ บริเวณหน้าวัดกลางเก่า
  • 30 ตุลาคม 2566 : พิธีชักพุ่มเมือง บริเวณศาลหลักเมือง / ขบวนแห่เรือพนมพระ บริเวณหน้าศาลากลาง-สะพานนริศ การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราช บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี / พิธีเปิดงานชักพระทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาวฯ บริเวณหน้าวัดกลางเก่า / พิธีสมโภชน์เรือพนมพระ บริเวณหน้าวัดกลางเก่า / พิธีมอบถ้วยพระราชทานฯ การแข่งขันเรือยาวฯ บริเวณหน้าวัดกลางเก่า / การแสดงแสงสีเสียง (สำนักงานวัฒนธรรม) บริเวณหน้าวัดกลางเก่า 
  • 31 ตุลาคม 2566 : การแสดงน้ำพุดนตรี บริเวณสะพานนริศ


นายนันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก ขณะเดียวกันก็มีความแตกต่าง ของทรัพยากรทางการท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยว ที่หลากหลาย สวยงาม และมีคุณค่าต่อการมาเยี่ยมชม นอกจากจะมีความโดดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์แห่งป่าฝนเขตร้อน ก่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว และมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่สวยงาม ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาสก เขื่อนรัชชประภา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา และมีวิถีชีวิตชุมชนที่น่าศึกษาเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เป็นต้น ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สุราษฎร์ธานี ก็มีความพร้อมอย่างครบครัน

การจัดงานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ประจำปี 2566 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาท่องเที่ยว สัมผัสความสวยงามของธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรม และได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่พื้นที่ด้วย

ในนามตัวแทนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงขอเชิญทุกท่านร่วมงานงานประเพณีซักพระ-ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาว ประจำปี 2566 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นางวลี มีชัยพัฒนกิจ รองนายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงในประเด็นความพร้อมและการสนับสนุนงานชักพระ ฯ ว่า ในส่วนของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีนั้น ได้ให้ความสำคัญในการการรักษาความสงบเรียบร้อยและจัดระเบียบ ในเรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย การควบคุมและจัดระบบแม่ค้าและแผงลอยในเขตเมืองและบริเวณสถานที่จัดงานบริเวณสะพานนริศ บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี ดูแลและอำนวยความสะดวกตลอดทั้งจัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพิธีเปิดงาน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวผู้มาร่วมงาน อีกทั้งประกวดเรือพนมพระทางบก (ขนาดใหญ่/ขนาดเล็ก) ประกวดพุ่มผ้าป่า การแข่งขันเรือยาว และการจัดกิจกรรมในปีนี้จะมีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปีที่ผ่านๆ มา กิจกรรมต่างๆ ยังคงยึดตามประเพณีดั้งเดิมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การจัดขบวนแห่เรือพนมพระทางบก และ ทางน้ำ การแข่งขันเรือยาว ประเพณีทำพุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน การจัดการแสดงแสงสีเสียงบอกเล่าความเป็นมาของประเพณีชักพระ กิจกรรมวิ่งพรมน้ำมนต์ 

นายนัฐพงษ์ เตี่ยมังกรพันธุ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดูแลในเรื่องของเรือพระพนมพระกว่า 100 ลำ และการประกวดเรือพนมพระที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปี เพื่อชิงถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี อีกหนึ่งกิจกรรมคือ กิจกรรมลานวัฒนธรรม บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในระหว่างวันที่ 27 – 29 ตุลาคม 2566 ก่อนพิธีเปิดและลากเรือพนมพระในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 และกิจกรรมการประกวดแข่งขันหนังตะลุงและมโนราห์ “งานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัด สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 28 ตุลาคม 2566 

จ่าเอกพิรพร อุลิตผล วัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ เตรียมการในเรื่องของพิธีการ การแสดง นาฎศิลป์แขนงต่างๆ อาทิ การแสดงมโนราห์ การร่ายรำต่างๆ ที่สร้างความตระการตา เสริมให้งานประเพณีซักพระ-ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาวมีความน่าสนใจ

นางสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเพณีซักพระ-ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาวถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสืบทอดกันมาช้านาน การจัดงานประเพณีซักพระ-ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาว ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้มาร่วมงานฯ มากขึ้น โดยเฉพาะในวันที่ 30 ตุลาคม ๒๕๖๖ ชมขบวนแห่และไหว้พระกว่าร้อยวัดในวันเดียว ชมพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านนับพันพุ่มหนึ่งเดียวในประเทศไทย อีกทั้งได้ท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้สนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ทั้งในระบบ Online และ Offine ประสานงาน และจัดงานแถลงข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ ขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2566 โดยททท.สำนักงานสุราษฎร์ธานี ได้ประสานงานเชิญชวนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ขายแพ็คเกจท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ต่าง ๆ นำคณะนักท่องเที่ยวมาร่วมงานประเพณีชักพระฯ เพื่อสัมผัสและเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิต ทั้งนี้ได้มีนักท่องเที่ยวสนใจซื้อแพคเก็จจำนวนกว่า ๔๐๐ คน ทั้งนี้สมาคมฮากกา ทั่วประเทศ จัดประชุมใน พื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี และร่วมชมงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า ฯ คาดว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 500 คน มีเงินสะพัดมากกว่า 1 ล้าน 5 แสนบาท

ยิ่งไปกว่านั้น ททท. ได้มอบเงินสนับสนุนกว่า 1 ล้านบาท เพื่อสร้างน้ำพุดนตรี ซี่งช่วยสร้างสีสัน ความตื่นตาตื่นใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างบรรยากาศครึกครื้นให้กับงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาวในครั้งนี้ ซึ่งการจัดแสดงน้ำพุดนตรี จัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 บริเวณสะพานนริศ

ในโอกาสนี้ จึงขอเรียนเชิญทุกท่านได้มาร่วมงานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ประจำปี 2566 และท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งพี่น้องชาวสุราษฎร์ธานีมีความพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับทุกท่านด้วยไมตรีจิต 

Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts

ค้นหาบล็อกนี้

Contact Us ::

📲 (+66) 081 4345154
✉️ Insightoutstory@gmail.com

Add Line📲 Click 👇👇

Translate

🚉 ช.ส.ท.พาเที่ยว นครฯ

Review By Nichapa

POPULAR NEWS

Fanpage Facebook

ป้ายกำกับ

คลังบทความของบล็อก