วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2566) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่นประจำปี 2566 หรือ “Prime Minister’s Export Award 2023” ครั้งที่ 31 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าและบริการดีเด่นภายใต้ชื่อทางการค้าของตนเอง มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเอง นำนวัตกรรมมาประยุกต์ในการดำเนินธุรกิจ และดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG Economy Model สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และเป็นเครื่องมือรับรองด้านการดำเนินธุรกิจ การสร้างมาตรฐานสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ พร้อมระบุว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ประเทศไทยต้องตื่นตัวในการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกมิติ รวมถึงภาคการส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกนับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถแข่งขับได้ภายใต้บริบทโลกยุคใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา รัฐบาลเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก เน้นการสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยใช้ “การทูตเชิงรุก” สร้างเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศด้วยการเจรจา ได้รับความร่วมมือจากภาคการค้าเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างตลาดใหม่ และรักษาตลาดเดิม รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน โดยการพัฒนาสินค้าด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ สร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทย และสินค้าในภาค จากนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” สร้างการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มโดยใช้นวัตกรรม รวมทั้งสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีอัตลักษณ์ที่ชันดเจนในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายในการส่งเสริม “Soft Power” เพื่อเฟ้นหาและยกระดับคนไทยให้มีแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงและเปิดตลาดใหม่ใน 11 ภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality มุ่งใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ผู้ประการธุรกิจส่งออกมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว เปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาสินค้า และบริการ ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของโลกรางวัล PM’s Export Award ประจำปีนี้ นับเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุด และเป็นรางวัลเชิดชูผู้ประกอบการไทยที่มุ่งมั่นทุมเทเพื่อพัฒนาสินค้า และบริการให้มีคุณภาพในมาตรฐานในทุกมิติ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งด้านการประกอบธุรกิจนวัตกรรม แบรนด์ การส่งออก การออกแบบ และคุณภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ จึงเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการภาคส่งออกของไทย จะสามารถต่อยอดและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดีทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญทูตพาณิชย์ และเอกอัคราชทูตจากทั่วโลกมาประชุมใหญ่ เพื่อมอบนโยบายที่จะช่วยผู้ส่งออกได้เปิดตลาดที่ดีขึ้น รวดเร็ว และสะดวกมากขึ้น โดยมีทูตพาณิชย์เป็นผู้นำในการนำรายได้เข้าประเทศเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจส่งออก เพื่อการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลกนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น PM’s Export Award กระทรวงฯ ได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2535 มีผู้ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น จำนวน 798 รางวัล จาก 257 บริษัท และในทศวรรษใหม่กับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 31 ภายใต้แนวคิด “Better Vision Brighter Future : เปิดมุมมองใหม่ ขับเคลื่อนธุรกิจไทยมุ่งสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต อย่างเต็มภาคภูมิ” โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (Environmental, Social and Governance: ESG) ทั้งนี้ การคัดสรรผู้ประกอบการภาคส่งออกในปี 2566 มีผู้สมัครเข้ารับรางวัลทั้งหมดจำนวน 162 ราย
มีผู้ประกอบการผ่านการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินให้เข้ารับรางวัลรวมจำนวน 40 รางวัล 37 บริษัท ใน 7 สาขา ประกอบด้วย
1. รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกยอดเยี่ยม (Best Exporter) โดยมีผู้ประกอบการผ่านการพิจารณาคัดเลือกและได้เข้ารับรางวัล จำนวน 6 รางวัล
2. รางวัลแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม (Best Thai Brand) โดยมีผู้ประกอบการผ่านการพิจารณาคัดเลือกและได้เข้ารับรางวัล จำนวน 10 รางวัล
3. รางวัลธุรกิจ BCG ส่งออกยอดเยี่ยม (Best BCG Exporter) ซึ่งเป็นการปรับจากรางวัลสินค้าส่งเสริมนวัตกรรมยอดเยี่ยม (Best Innovation) เพื่อให้สอดคล้องกับวาระแห่งชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ Bio Circular-Green Economy Model หรือ BCG โดยมีผู้ประกอบการผ่านการพิจารณาคัดเลือกและได้เข้ารับรางวัล จำนวน 7 รางวัล
4. รางวัลออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) โดยมีผู้ประกอบการผ่านการพิจารณาคัดเลือกและได้เข้ารับรางวัล จำนวน 7 รางวัล
5. รางวัลธุรกิจบริการยอดเยี่ยม (Best Service Enterprise) ประกอบด้วย สาขาโรงพยาบาล/ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง/คลินิกเฉพาะทาง (Health & Wellness) สาขาดิจิทัลคอนเทนท์และซอฟแวร์ (Digital Content & Software) และสาขาธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (Printing and Packaging) รวมจำนวน 4 รางวัล
6. รางวัลสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม (Best OTOP) จำนวน 1 รางวัล และ OTOP New Face Exporter จำนวน 1 รางวัล รวมจำนวน 2 รางวัล
7. รางวัลสินค้าฮาลาลยอดเยี่ยม (Best Halal) มีผู้ประกอบการที่ผ่านการพิจารณาและได้เข้ารับรางวัลรวม 4 รางวัล
และจากข้อมูลการส่งออกของผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในปีนี้ มีส่วนในการสร้างรายได้เข้าประเทศในปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 14,567.65 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.79 จากปีก่อนหน้า และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม - กันยายน) ได้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศแล้วประมาณ 12,257.24 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการจ้างงานไม่น้อยกว่า 7,654 ราย เป็นเครื่องการันตีแล้วว่า Prime Minister's Export Award นี้ เป็นรางวัลแห่งความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนธุรกิจส่งออกของไทยให้เติบโต และเข้มแข็งบนเวทีการค้าโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น