ลุย ถก โครงการพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทางยกระดับนี้เพื่อใคร

วันนี้ ( 7 มีนาคม 2567 ) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ณ ห้องประชุมอาคารสมาคมศิษย์เก่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) โดยมีนักวิชาการ ประชาชน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นกว่า 300 คน 

รองศาสตราจารย์ ดร. คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวในการเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่า  ทางคณาจารย์ของสจล.มีข้อคิดเห็นหลักๆ ดังนี้  คือ โครงการก่อสร้างนั้นเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจจริงแต่ต้องไม่ลืมถึงผลกระทบทางสังคมสิ่งแวดล้อม ทัศนียภาพการใช้ชีวิตต่อคนในชุมชนสองข้างทาง ผลกระทบทางมลพิษ การจราจร และการพิจารณาถึงทางเลือกอื่นที่แม้จะใช้เงินลงทุนมากกว่าแต่คุ้มค่ากว่าในระยะยาว ดังเช่น การก่อสร้างอุโมงค์ แทนทางยกระดับ ซึ่งจะลดความเสี่ยงและผลกระทบในด้านความปลอดภัยและมลภาวะอื่นๆได้มากกว่า

ข้อเสนอแนะของสจล. คือ โมเดลการก่อสร้างโครงการทางพิเศษเหมาะที่จะอยู่ในรูปแบบอุโมงค์ใต้ดิน แทนการก่อสร้างด้วยโครงสร้างบนดินเพราะจะทำให้เมืองกรุงเทพมหานครยังคงความสวยงามของเมือง ลดความเสี่ยง อันตรายจากการก่อสร้างต่างๆ ลดปัญหามลพิษที่จะเกิดเกิดขึ้น ลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและการจราจร และอยากให้คำนึงถึงตัวอย่างของโครงการก่อสร้างถนนเส้น พระราม 2 ซึ่งยังคงส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อประชาชนในพื้นที่และการสัญจรไปมาจนถึงทุกวันนี้  

รองศาสตราจารย์  สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า   ที่ผ่านมา การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ทำประโยชน์ต่อประเทศมามากมาย เพราะฉะนั้นโครงการนี้ ก็เชื่อว่าการทางพิเศษฯ จะต้องเลือกทางที่ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และเชื่อว่าประชาชนจะยอมรับได้ เพราะผลกระทบในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้รับไปตลอดชีวิต ถึงลูก หลาน แม้ว่าการทางพิเศษฯ จะบอกว่ามีวิธีการป้องกันเรื่องของมลภาวะต่าง ๆ  แต่ในเรื่องของมูลค่าทรัพย์สินของประชาชนก็จะสูญเสียไปตลอด จึงอยากให้พิจารณาในประเด็นการก่อสร้างโครงการ ในรูปแบบอุโมงค์ใต้ดิน แทนการก่อสร้างด้วยโครงสร้างบนดิน ซึ่งถึงแม้จะมีมูลค่าการก่อสร้างมากขึ้น แต่ก็คุ้มค่ามากกว่า ทั้งนี้อยากจะฝากให้พิจารณาการตัดสินใจ ให้คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการก่อสร้าง และเชื่อว่าประชาชนจะไม่ยินยอมอย่างแน่นอน

รองศาสตราจารย์ ดร. คมสัน มาลีสี กล่าวด้วยว่า  สุดท้ายการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรอบด้านผู้ที่เกี่ยวข้องทุกทิศทางด้วยรูปแบบการประเมิน 360 องศา คือสิ่งจำเป็นที่สุด ไม่ว่าอย่างไรการคำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและลูกหลานของเรา คือสิ่งสำคัญที่สุดต่อการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้  

สำหรับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่) ของกรมทางหลวง (ทล.) เป็นเส้นทางสายหลักที่ให้บริการประชาชนเพื่อเดินทางเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออก ทั้งจังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ซึ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าและการเดินทางของประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย จึงรองรับการใช้บริการของสายการบินจำนวนมากทั้งผู้โดยสารและสินค้าต่างๆ ทำให้มีปริมาณการเดินทางเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ

รวมทั้ง การขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของบริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครทั้งบริเวณสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง (ICD ลาดกระบัง) ซึ่งเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และโครงข่ายถนนโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรเป็นอันมากโดยเฉพาะทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เกิดปัญหาการจราจรติดขัดเป็นช่วงๆ ต่อเนื่องจากบริเวณทางแยกศรีนครินทร์ถึงบริเวณทางเชื่อมเข้า-ออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจนกระทั่งถึงบริเวณพื้นที่ลาดกระบัง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน

Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts

ค้นหาบล็อกนี้

Contact Us ::

📲 (+66) 081 4345154
✉️ Insightoutstory@gmail.com

Add Line📲 Click 👇👇

Translate

🚉 ช.ส.ท.พาเที่ยว นครฯ

Review By Nichapa

POPULAR NEWS

Fanpage Facebook

ป้ายกำกับ

คลังบทความของบล็อก