นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันคนพิการที่ขึ้นทะเบียน มีบัตรประจำตัวคนพิการ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,304,268 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 427,363 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 67) ขณะเดียวกันสถานการณ์การจัดบริการล่ามภาษามือในปัจจุบัน มีล่ามภาษามือชุมชนที่จดแจ้งกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จำนวน 178 คน เนื่องจากมีล่ามภาษามือชุมชนจำนวนมากที่ยังสอบไม่ผ่านการประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือชุมชนตามระเบียบที่กำหนดไว้ และในพื้นที่ 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร มีล่ามภาษามือ จำนวน 41 จังหวัด และไม่มีล่ามภาษามือ จำนวน 36 จังหวัด ซึ่งล่ามภาษามือส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
“ในช่วงที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อถวายรายงานผลการดำเนินงานกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านคนพิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนพิการ รวมถึงความร่วมมือกับสถาบันราชสุดา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการผลิตล่ามภาษามือ“ นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. จึงได้มุ่งเป้าเร่งขับเคลื่อนการผลิตล่ามภาษามือให้เพียงพอต่อการให้บริการคนพิการ วันนี้มีการเปิดตัวโครงการอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชน 135 ชั่วโมง โดยความร่วมมือกับสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคนพิการจังหวัด หน่วยบริการล่ามภาษามือ หน่วยงานที่ให้บริการล่ามภาษามือ และผู้สนใจ สามารถสื่อสารกับคนพิการทางการได้ยินที่มารับบริการ และต่อยอดไปสู่การเข้ารับการสอบประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือ เพื่อจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชนเพิ่มมากขึ้น สำหรับโครงการอบรมล่ามภาษามีการจัดอบรมรวม 6 รุ่น รุ่นละ 30 คน จำนวน 180 คน (ระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 77 จังหวัด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ศูนย์บริการคนพิการ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด
นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมล่ามภาษามือในรุ่นต่อไป จำนวน 500 กว่าคน นับเป็นเรื่องที่ดี แต่เป้าหมายของเรา คือ ต้องการผลิตล่ามภาษามือให้ได้ 40,000 กว่าคน เพื่อบริการคนพิการทางการได้ยินให้ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การเป็นล่ามภาษามือ ยังสามารถเป็นอาชีพที่มีรายได้เลี้ยงดูตนเอง และเป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยได้เดินไปข้างหน้า โดยเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #คนพิการ #ล่ามภาษามือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น