กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดพิธีบวงสรวงเทพยดางานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดงานยิ่งใหญ่ 11 - 15 ก.ค.นี้ ณ ท้องสนามหลวง

 

กระทรวงวัฒนธรรมนำโดยน.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธีบวงสรวงเทพยดางานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จัดงานยิ่งใหญ่ 11 - 15 ก.ค.นี้ ณ ท้องสนามหลวง ประกาศเตรียมความพร้อมทุกด้าน ริ้วขบวน สถานที่ การแสดง การบริการประชาชน ชวนชมพิธีเปิดความอลังการ 26 ริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติ การแสดงศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการ-สวนแสง ชิม ช้อปอาหาร-ผลิตภัณฑ์ตลาดวัฒนธรรม

วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.19 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีบวงสรวงเทพยดางานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประกอบพิธีบวงสรวง และมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร  ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธี ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ 

 สำหรับการบวงสรวงหรือพิธีบวงสรวง คือ พิธีการทางพุทธศาสนาที่โบราณคณาจารย์ได้กระทำ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอริยสงฆ์ พระพรหม เทพเทวดา ท่านท้าวจาตุมหาราช พระภูมิเจ้าที่ คุณบิดามารดาและอาจารย์ในทุกชาติ เป็นการบอกกล่าว ก่อนการจัดงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความสำเร็จและราบรื่น พิธีบวงสรวงในประเทศไทย นิยมใช้บายศรี หัวหมู เป็ดไก่ ข้าวปลาธัญญาหารเป็นเครื่องบูชา ขนมหวาน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ไข่ เมี่ยงส้ม ผลไม้ กล้วยน้ำหว้ามะพร้าวอ่อน เครื่องประกอบเหล่านี้อาจงดเว้นบางอย่างก็ได้ การทำพิธีนั้น พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี โดยกล่าวคำชุมนุมเทวดาและอ่านคำประกาศบวงสรวง และใช้กลองบัณเฑาะว์ประกอบพิธีบวงสรวง 

การบวงสรวงเทพยดาในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ความสำเร็จ ในการแสดงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโขน ละคร และการแสดงนาฏศิลป์ต่างๆ มีธรรมเนียมและประเพณีความเชื่อในการปฏิบัติ สืบต่อกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ก่อนการแสดงทุกครั้งจะต้องมีการบวงสรวงสังเวยก่อนการแสดง เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ และบอกกล่าวเพื่อขออนุญาต เปิดทางให้แก่ผู้แสดง ช่วยทำให้การแสดงราบรื่นไม่ติดขัด รวมทั้งปกป้องคุ้มครองให้การแสดงผ่านพ้นไปได้ด้วยดีและเกิดความเป็นมงคลต่อผู้แสดงและผู้รับชม

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 11 - 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ                 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย โดยมีพิธีเปิดงานวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 19.30 น. ณ ท้องสนามหลวง โดยก่อนพิธีเปิดเวลา 17.30 -19.00 น. มีกิจกรรมการเดินริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย ริ้วขบวน 26 ขบวน ซึ่งมีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการ ผู้แทนภาคเอกชนและประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมกว่า 3,000 คน ได้แก่ ขบวนที่ 1 วงดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ ขบวนที่ 2 ขบวนธงชาติไทย ธงตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ วปร.               และธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ขบวนที่ 3 ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ  4 เหล่า ขบวนที่ 4 รถเฉลิมพระเกียรติฯ กระทรวงวัฒนธรรม ขบวนที่ 5 บุคลากรกระทรวงวัฒนธรรม ขบวนที่ 6 รถเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและบุคลากร 

ขบวนที่ 7 หน่วยงานราชการ 16 กระทรวง ขบวนที่ 8 มรดกศิลปวัฒนธรรม ภาคเหนือ ขบวนที่ 9 มรดกศิลปวัฒนธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวนที่ 10 มรดกศิลปวัฒนธรรม ภาคกลางและภาคตะวันออก ขบวนที่ 11 มรดกศิลปวัฒนธรรม ภาคใต้ ขบวนที่ 12 รถเฉลิมพระเกียรติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขบวนที่ 13 รถเฉลิมพระเกียรติฯ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย

ขบวนที่ 14 ขบวนธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขบวนที่ 15 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)             ขบวนที่ 16 ธนาคารออมสิน ขบวนที่ 17 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขบวนที่ 18 กลุ่มบริษัท บีเจซี บิ๊กซี  ขบวนที่ 19 บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ขบวนที่ 20 องค์การศาสนา 5 ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ -ฮินดูและซิกข์ ขบวนที่ 21 บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ขบวนที่ 22 บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ขบวนที่ 23 กลุ่มชาติพันธุ์ ขบวนที่ 24 เครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขบวนที่ 25 สมาพันธ์สตรี ทำความดีแห่งประเทศไทย และขบวนที่ 26 สมาคมเยาวชนจิตอาสาพัฒนา สำหรับเส้นทางเดินริ้วขบวนเริ่มจากบริเวณ             สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลางไปยังท้องสนามหลวง 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ภายในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งแต่วันที่ 11 - 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ได้แก่ 1) นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ทศมินทรราชา 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” เผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และ 2) จัดแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติ “มหาทศมินทรราชา” การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ แบ่งเป็น 2 เวที คือ เวทีกลาง จัดแสดงวันที่ 11 - 15 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.30 - 22.00 น. วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ในพิธีเปิดงานมีการแสดงอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 1,200 ลำ แปรขบวนแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชุด “รวมใจภักดิ์ ถวายพระพร” ตามแนวคิดภายใต้ร่มพระบารมี ปวงประชาจงรักภักดี  การแสดง “มหาดุริยางค์ไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” และการแสดง “โนราศิลปินแดนทักษิณเฉลิมพระเกียรติ” วันที่ 12 กรกฎาคม 2567  การแสดงดนตรี “นาฏะ ดนตรี คีตา” การแสดงโขน “สมเด็จพระรามาครองเมือง” การแสดงพื้นบ้าน “เรืองรองสุขเกษมทั่วถิ่นไทย” วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 การแสดงดนตรี “เทิดไท้องค์ราชัน พระมิ่งขวัญปวงชนชาวไทย” การแสดงละครนอก ตอน ถวายลูกแก้วหน้าม้า การแสดง “มหานาฏกรรมรามายณะนานาชาติเฉลิม พระเกียรติ” โดยไทยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ 

วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 การแสดงดนตรี “มหาดุริยางค์ 4 เหล่า” เป็นการแสดงร่วมกันของกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การแสดงดนตรี “สดับคีตศิลป์ทศชาติชาดก” (10 พระชาติชาดก เฉลิมพระเกียรติ) และการแสดงละครเพลง “เทิดไท้ทศมินทรราชา” และวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 การแสดง “สิงโตบนเสาดอกเหมยเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” การแสดง “มังกรเบิกฟ้า 72 พรรษามหามงคล ใต้ร่มบรมโพธิสมภาร” บริเวณหน้าเต็นท์นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ พิธีมอบโล่ขอบคุณหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ  การแสดงดนตรี “แผ่นดินธรรมแผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี” เป็นการแสดงร่วมกันของ 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยรังสิต การแสดง “นาฏศิลป์โขนสดใต้ร่มพระบารมี” ตอน ศึกทศกัณฐ์ยกรบ  และตอน ยักษ์บรรลัยกัลป์ออกศึก การแสดง “ศิลปะร่วมสมัยเทิดไท้องค์ราชัน” และการแสดงอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เฉลิมพระเกียรติ ชุด “รวมใจภักดิ์ ถวายพระพร” 

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันในส่วนเวทีย่อย จัดแสดงวันที่ 12 - 14 กรกฎาคม 2567  เวลา 17.00 - 18.30 น. ได้แก่ การแสดงพื้นบ้านจากเครือข่ายสมาคมศิลปินพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดงหนังตะลุงคน ชุด “หนังตะลุงปักษ์ใต้ เทิดไท้องค์ราชัน” การแสดงหมอลำ ชุด “รำถวายเกล้าไทยอีสาน ศิระกานจอมจักรี” การแสดงโนรา ชุด “โนราสู่ภูมิปัญญาเทิดไท้องค์ราชัน” และการแสดงพื้นบ้านอีสาน ชุด “เทิดพระเกียรติพระแผ่นฟ้า 72 พรรษา มหาบารมี” วงดนตรีลูกทุ่งชิงช้าสวรรค์ โรงเรียนโยธินบูรณะ กรุงเทพฯ รำวงชาวบ้าน อ๊อด โฟร์เอส และบริเวณถนนกลางสนามหลวง  การแสดง “ลีลาศ 772 คู่ขวัญเทิดราชัน 72 พรรษามหาวชิรลงกรณ” และการแสดงของศิลปิน เพียง The Voice  เปาวลี พรพิมล และนิวคันทรี่ และทุกวัน ตั้งแต่เวลา 15.00 - 18.00 น. มีการแสดงว่าวเฉลิมพระเกียรติ เช่น ว่าวจุฬา ว่าวสาย ว่าวสามเหลี่ยม รวมกว่า 100 ตัว โดยนายปริญญา สุขชิต หรือ “ซุปเปอร์เป็ด” ที่เป็น           ผู้สืบสานและนักเล่นว่าวไทยระดับชาติ  อีกทั้งภายในงานมีตลาดวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ จำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ของดีสภาวัฒนธรร กรุงเทพมหานคร อาหารไทย อาหารถิ่น และผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวัฒนธรรมอื่นๆ  การสาธิตอาหารในรูปแบบตลาดย้อนยุค เช่น อาหารไทยโบราณ อาหารชาววัง อาหารพื้นถิ่น และสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้แก่ นวดไทย ลงรักปิดทอง มาลัยจากกระดาษทิชชู่ จัดดอกไม้ แกะสลักผัก ผลไม้ ดินปั้น เขียนลายคราม การทำเครื่องหอมสมุนไพรและผ้าปักเชียงราย 

“ขณะนี้วธ.มีความพร้อมในการจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯทุกด้านทั้งด้านสถานที่ มีการจัดตั้งเต็นท์อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ เวทีการแสดง ณ บริเวณสนามหลวง การจัดเตรียมริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯทั้งในส่วนของวธ.และหน่วยงานต่างๆและการจัดเตรียมการแสดงชุดต่างๆได้เตรียมการและซ้อมกันอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งการบริการประชาชน เช่น การดูแลด้านจราจร ความปลอดภัยในพื้นที่สนามหลวง  การอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาชมงานได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีตำรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว 


ทั้งนี้ ชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าร่วมชมงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ             และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารเฉพาะกิจให้บริการรับ-ส่งประชาชนเดินทางมาร่วมงานฟรี  ระหว่างวันที่ 11 - 15 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 12.00 - 22.00 น. จำนวน 5 เส้นทาง  ได้แก่ 1. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ฝั่งเกาะพญาไท) - สนามหลวง 2. สายใต้ใหม่ - สนามหลวง 3. หมอชิต - สนามหลวง 2 4. วงเวียนใหญ่ -สนามหลวง 5. สนามหลวง - ท่าช้าง - ท่าเตียน (เดินรถวงกลม) โดยมีจุดจอดรับ - ส่ง บริเวณหน้าศาลฎีกา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765

Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts

ค้นหาบล็อกนี้

Contact Us ::

📲 (+66) 081 4345154
✉️ Insightoutstory@gmail.com

Add Line📲 Click 👇👇

Translate

🚉 ช.ส.ท.พาเที่ยว นครฯ

Review By Nichapa

POPULAR NEWS

Fanpage Facebook

ป้ายกำกับ

คลังบทความของบล็อก